คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกันแม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของ จ. ซึ่งเป็นลุงของผู้ตาย โดย จ. เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่า จ. แล้ว จ. จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกว่า ผู้ร้องที่ 1 เรียกผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ในสำนวนที่สามว่าผู้ร้องที่ 2 และผู้ร้องที่ 3 ตามลำดับ และให้เรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกและผู้ร้องในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับนางสาวลักษมีซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ผู้ตายเป็นบุตรของนายซังฮ้อหรือซังฮ้อ กับนางบุญเจียมต่อมานายซังฮ้อแต่งงานอยู่กันฉันสามีภริยากับนางอร่ามฉาย มีบุตรคือผู้ร้องทั้งสาม ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินจำนวน 4 แปลง ผู้ร้องทั้งสามมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก เนื่องจากผู้ร้องทั้งสามขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนรับโอนที่ดินของผู้ตาย แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการให้ได้เพราะไม่มีคำสั่งศาลตั้งผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอและคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายเจือซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางบุญเจียมมารดาของผู้ตาย ผู้ตายไม่มีทายาทอื่น ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายแทนที่นายเจือ ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากธนาคาร 6 บัญชี และที่ดินจำนวน 4 แปลง ผู้คัดค้านมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก เนื่องจากผู้คัดค้านติดต่อขอรับเงินฝากของผู้ตายที่ธนาคาร แต่เจ้าหน้าที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้ เพราะไม่มีคำสั่งศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ตายไม่ได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายซังฮ้อ เนื่องจากนายซังฮ้อและนางบุญเจียมมิได้จดทะเบียนสมรสกัน และนายซังฮ้อไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าผู้ตายเป็นบุตร ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับผู้ตายและไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสาม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมผู้ตายชื่อนางสาวละม้าย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนางสาวลักษมี ผู้ตายเป็นบุตรของนายซังฮ้อกับนางบุญเจียม ผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรของนายซังฮ้อกับนางอร่ามฉาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายเจือกับนางสงัด โดยนายเจือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางบุญเจียม นายเจือจึงมีฐานะเป็นลุงของผู้ตาย ผู้ตายมีสถานภาพโสดไม่มีบุตรหรือบุตรบุญธรรม บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยายของผู้ตาย นายเจือ นางสงัดถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ด้วยสาเหตุโรคความดันโลหิตสูงตามสำเนามรณบัตร ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ตายมีทรัพย์สินที่เป็นมรดกคือที่ดินจำนวน 4 แปลง เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รวม 6 บัญชี และบัญชีทรัพย์ ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านไปติดต่อขอรับโอนมรดกของผู้ตายที่สำนักงานที่ดิน และผู้คัดค้านไปติดต่อขอเบิกถอนเงินของผู้ตายที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แต่เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ต้องให้ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก่อนผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ยินยอมและร้องขอให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนพี่น้องของผู้คัดค้านยินยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องที่ 1 มิได้เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันกับผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (4) โดยผู้คัดค้านอ้างว่าการจะเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกัน เห็นว่า การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้วการที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกัน ผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมายและมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน แม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของนายเจือซึ่งเป็นลุงของผู้ตายโดยนายเจือเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่านายเจือแล้ว นายเจือจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share