คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7105/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทในคดีมีว่าจำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ป่วยเป็นโรคปอดเนื่องจากการทำงานหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับประเด็นข้อพิพาทในคดีเรื่องอื่นของศาลแรงงานกลางซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ส่งลูกจ้างไปให้คณะกรรมการแพทย์ที่ศาลตั้งขึ้นตรวจวิเคราะห์โรคตามคำท้าของคู่ความ ได้ผลประการใดให้ถือเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดี และคู่ความทุกฝ่ายในคดีนี้เห็นพ้องต้องกันขอถือเอาคำท้าในคดีดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยคดีนี้โดยตกลงให้จัดส่งจำเลยทั้งสองไปตรวจวิเคราะห์โรคด้วยเช่นเดียวกับคดีดังกล่าวข้างต้น ดังนี้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาและพิพากษาคดี ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว เพื่อรอฟังผลการตรวจวิเคราะห์โรคของจำเลยร่วมทั้งสองก่อน เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นพิพาททุกข้อที่กำหนดไว้ โดยพิจารณาไปตามเหตุผลที่ปรากฏในคำคู่ความและพยานหลักฐานในสำนวนมิได้วินิจฉัยคดีไปตามคำท้าของคู่ความในคดีอื่นซึ่งมีประเด็นที่พิพาทเป็นอย่างเดียวกันกรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลแรงงานกลางจะต้องเพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาที่ได้จดบันทึกพาดพิงถึงคำท้าของคู่ความในคดีอื่น เพราะรายงานกระบวนพิจารณาข้างต้นมิได้ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 30 ให้อำนาจแก่ศาลแรงงานกลางในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยให้ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้ความเห็นแก่ศาลประกอบการพิจารณาและพิพากษา ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองต้องการและพอใจให้ศาลจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเพื่อตรวจวิเคราะห์โรคของจำเลยทั้งสอง การแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานกองทุนเงินทดแทนซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลยมีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยเงินทดแทนรวม 2 ฉบับว่า นางสาวจำเนียร พร้อมมูล กับนางอาภรณ์ อังศุจันทร์ลูกจ้างของโจทก์ ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดขึ้นจากการทำงานให้แก่โจทก์ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2537สำนักงานกองทุนเงินทดแทนมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่ากรณีนี้ลูกจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง จึงมีมติให้ยกข้ออุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามข้อ 23 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบฯซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์ในฐานะเป็นนายจ้างมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเพื่อให้วินิจฉัยว่าลูกจ้างทั้งสองดังกล่าวไม่ได้เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เพราะโจทก์มีส่วนได้เสียต้องส่งเงินเข้าสมทบกองทุนเงินทดแทน และที่วินิจฉัยว่าลูกจ้างทั้งสองป่วยเป็นโรคปอดบิสซิโนซีสเนื่องจากการทำงานนั้นก็ยังไม่มีการยืนยันเป็นที่แน่นอนว่าเกิดจากฝุ่นฝ้าย ทั้งโจทก์ได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างทุกคนเป็นประจำปีก็ไม่ปรากฏว่าลูกจ้างทั้งสองดังกล่าวมีอาการผิดปกติทางปอดอันเป็นอากรของโรคบิสซิโนซีส โจทก์ได้จัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ผ้าปิดจมูก)ให้แก่ลูกจ้างทุกคน สถานที่ทำงานเป็นห้องโถงโล่ง มีการควบคุมความชื้น มีอุปกรณ์ในการเก็บฝุ่นละออง มีเครื่องดูดฝุ่นฝ้ายลงสู่อุโมงค์ใต้พื้นทางเดินและแผ่นกรองด้านผนัง จัดให้มีแพทย์และพยาบาลคอยให้การรักษาให้คำแนะนำแก่ลูกจ้างในการทำงานทุกวันส่งเสริมให้ออกกำลังกายตลอดปี ทั้งสำนักงานกองทุนเงินทดแทนไม่ได้จัดส่งตัวลูกจ้างทั้งสองไปตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้มีการพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วน ไม่มีประวัติการรักษาลูกจ้างในโรงพยาบาลแห่งใดมาประกอบการพิจารณา คงมีแต่เพียงใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียวในการพิจารณาวินิจฉัย ด้วยเหตุผลดังกล่าวโจทก์ไม่เชื่อว่าลูกจ้างทั้งสองดังกล่าวข้างต้นป่วยเป็นโรคปอดบิสซิโนซิส หากป่วยจริงก็ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานในโรงงานของโจทก์ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากความบกพร่องในร่างกายของลูกจ้างทั้งสองที่มีอาการผิดปกติ ดังนั้นคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนกับให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่พิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า ลูกจ้างทั้งสองดังกล่าวข้างต้นของโจทก์ได้รับการรักษาจากแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แห่งโรงพยาบาลราชวิถีและลงความเห็นว่าป่วยเป็นโรคปอดบิสซิโนซีสอันเนื่องมาจากการทำงานและโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เพราะเป็นสิทธิของลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิเท่านั้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบฯ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ข้อ 23กับข้อ 24 และโจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง
ระหว่างพิจารณานางสาวจำเนียร พร้อมมูล และนางอาภรณ์ อังศุจันทร์ ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลแรงงานกลางอนุญาต
กรณีสืบเนื่องจากคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทเช่นเดียวกับคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 หมายเลขแดงที่ 10682/2538 ของศาลแรงงานกลาง โดยโจทก์ จำเลยเป็นรายเดียวกันและอยู่ระหว่างนัดพร้อมเพื่อหาแนวทางวินิจฉัยคดีจากกองอาชีวอนามัย กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข และทนายจำเลยร่วมคดีนี้ได้ร่วมรู้เห็นมาตลอดจนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ทนายโจทก์ ทนายจำเลยและทนายจำเลยร่วมทั้งสองได้แถลงว่าคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่า ลูกจ้างของโจทก์ป่วยเป็นโรคปอดเนื่องจากการทำงาน(บิสซิโนซีส) หรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ท้ากันในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 ดังกล่าว จึงขอถือเอาคำท้าในคดีดังกล่าวเป็นเกณฑ์วินิจฉัยคดีนี้ด้วยและเนื่องจากคดีหมายเลขดำที่ 218/2538อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดนำลูกจ้างไปให้คณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ศาลแรงงานกลางจัดตั้งขึ้นตรวจวิเคราะห์โรคอีกครั้งหนึ่งตามคำท้าได้ผลประการใดถือเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดีโดยไม่จำต้องสืบพยานทั้งสองฝ่ายอีกต่อไป รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ซึ่งทนายจำเลยร่วมทั้งสองได้ลงชื่อรู้เห็นชอบกับคำท้าในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 ด้วยที่ให้ลูกจ้างของโจทก์รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งสองและพวกที่ฟ้องในคดีอื่นทำนองเดียวกันนี้อีกหลายสำนวนให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยจากคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิชุดดังกล่าวอีกครั้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้ถือเป็นที่สุดหากลูกจ้างผู้ใดไม่ไปรับการตรวจโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทางกองทุนเงินทดแทนหรือคณะกรรมการแพทย์ทราบ ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นใช้สิทธิโดยไม่สุจริตรายละเอียดปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 ดังกล่าว และได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านคำท้าดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมผูกพันจำเลยร่วมทั้งสองด้วยต่อมาคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้รายงานผลการตรวจวินิจฉัยต่อศาลว่า มีลูกจ้างยินยอมมาให้ตรวจเพียงสองคน ซึ่งไม่ใช่จำเลยร่วมทั้งสองคดีนี้ ทั้งที่นางธนพร เมธาวิกูลเลขานุการคณะกรรมการแพทย์ได้มีหนังสือนัดหมายแจ้งให้จำเลยร่วมทั้งสองทราบถึง 3 ครั้ง และฝ่ายนายจ้างได้อำนวยความสะดวกจัดรถรับส่งจ่ายค่าตรวจให้ รวมทั้งให้ถือว่าเป็นวันทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้จำเลยร่วมทั้งสองก็เพิกเฉยไม่ยอมไปตรวจ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามรายงานผลการตรวจวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิเพียงพอแก่การวินิจฉัย จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองแล้ววินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจำเลยเป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรมในกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ส่วนกองทุนเงินทดแทนเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลย มีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตามมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้ในส่วนนี้ และแม้ข้อ 23 และข้อ 24แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบฯ จะห้ามโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในขณะนั้นก็ตาม แต่ก็หาได้บัญญัติว่าโจทก์สิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบ ไม่ถูกต้องแต่อย่างไรไม่ ทั้งกรณียังเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่อาจถูกเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มได้ในกรณีที่มีการสูญเสียมากตามข้อ 3 อีกด้วย โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนคดีนี้ได้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ศาลแรงงานกลางในการวินิจฉัยคดีว่าจำเลยร่วมทั้งสองป่วยด้วยโรคปอดชนิดบิสซิโนซีสเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางมีอำนาจรับฟังความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ตามที่แพทยสภาและกองอาชีวอนามัยให้การรับรองประกอบรายงานผลการตรวจวินิจฉัย เมื่อจำเลยร่วมทั้งสองต่างได้รับหนังสือกำหนดนัดหมายให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยจากคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิถึง 3 ครั้งแล้วแต่เพิกเฉยไม่ไปรับการตรวจย่อมแสดงถึงความเป็นพิรุธของจำเลยร่วมทั้งสองว่ามิได้เจ็บป่วยจริงและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งสองป่วยเป็นโรคบิสซิโนซีสเนื่องจากการทำงาน คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่วินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งสองป่วยเป็นโรคบิสซิโนซีสเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์รวมทั้งมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่เกี่ยวข้องจึงไม่ถูกต้อง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กับมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่พิจารณาอุทธรณ์
จำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลแรงงานกลางที่สั่งยกคำร้องของจำเลยร่วมทั้งสองซึ่งขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยจำเลยร่วมทั้งสองเห็นว่ารายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 ธันวาคม2538 เป็นรายงานกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขอให้เพิกถอนเสียนั้นเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538ศาลแรงงานกลางบันทึกไว้เป็นใจความสำคัญว่า ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ที่ว่าลูกจ้างโจทก์ (จำเลยร่วมทั้งสอง) ป่วยเป็นโรคปอดเนื่องจากการทำงาน (บิสซิโนซีส) หรือไม่ อันเป็นประเด็นโดยตรงกับประเด็นในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 ของศาลแรงงานซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำลูกจ้างของโจทก์ไปให้คณะกรรมการแพทย์ที่ศาลแรงงานกลางตั้งขึ้นตรวจวิเคราะห์โรคอีกครั้งหนึ่งตามคำท้า ได้ผลประการใดถือเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดีโดยไม่ต้องสืบพยานทุกฝ่ายอีกต่อไป คงให้รอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์เท่านั้น ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราวเมื่อคณะกรรมการแพทย์วินิจฉัยโรคเกี่ยวกับลูกจ้างของโจทก์(รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งสอง) แล้ว ให้โจทก์แถลงยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปภายใน 30 วัน ปรากฏว่าในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538ได้มีการนัดพร้อมโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองในคดีนี้กับในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 คดีหมายเลขดำที่ 1435/2538คดีหมายเลขดำที่ 6843/2537 มาศาล โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมดังกล่าวเห็นพ้องต้องกันให้ส่งจำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ทุกสำนวนไปให้คณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน (บิสซิโนซีส)ที่ศาลแรงงานกลางแต่งตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกสำนวนทำการตรวจวิเคราะห์โรคว่าจำเลยร่วมทุกสำนวนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการทำงาน (บิสซิโนซีส)หรือไม่ เพื่อการประกอบการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางทุกสำนวนดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538 โดยให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราวเพื่อรอผลการตรวจวิเคราะห์โรคของจำเลยร่วมในคดีนี้จึงเป็นอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะทำได้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีและตามที่คู่ความทุกฝ่ายเห็นชอบด้วย สำหรับข้อที่จำเลยร่วมอ้างในคำร้องขอให้เพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลแรงงานกลางบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538 อ้างถึงคำท้าในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538แต่ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวคู่ความไม่ได้ท้ากันนั้น เห็นว่าในคดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาททุกข้อที่ได้กำหนดไว้ โดยวินิจฉัยไปตามเหตุผลที่ปรากฏในคำคู่ความและพยานหลักฐานในสำนวน ดังปรากฏในการวินิจฉัยประเด็นข้อแรกศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิหากมีกรณีถูกเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มทั้งโจทก์ไม่สิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบฯ ข้อ 23 และข้อ 24 จะห้ามโจทก์ในฐานะนายจ้างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและในประเด็นข้อสองศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมทั้งสองไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคบิสซิโนซีสเนื่องจากการทำงานโดยวินิจฉัยไปตามพฤติการณ์ที่จำเลยร่วมทั้งสองมีพิรุธไม่ไปรับการตรวจจากคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ศาลแรงงานกลางดำเนินการให้มีการจัดตั้งขึ้น หาได้วินิจฉัยตามความเห็นฝ่ายข้างมากของคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวตามที่คู่ความทุกฝ่ายตกลงกันในรายงานกระบวนพิจารณาที่กล่าวมาข้างต้นไม่ สรุปได้ว่าคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาคดีตามคำท้าแต่อย่างใด การที่ศาลแรงงานกลางบันทึกรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ไว้ดังกล่าวข้างต้น ไม่ทำให้ผลของคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสองเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่ใช่เหตุที่จะนำมาเพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวนี้แต่อย่างใด
ส่วนปัญหาที่จำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ลูกจ้างของโจทก์รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งสองในคดีนี้ว่าป่วยเป็นโรคปอดเกี่ยวกับการทำงาน(บิสซิโนซีส) หรือไม่ ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า การจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นวินิจฉัยอาการป่วยของจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวรวมทั้งจำเลยร่วมทั้งสองในคดีนี้เป็นไปโดยความเห็นชอบของจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวรวมทั้งจำเลยร่วมทั้งสองในคดีนี้ และคู่ความทุกฝ่ายที่เรียกมานัดพร้อมก็เห็นชอบให้ศาลแรงงานกลางมีหนังสือเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามรายชื่อจากกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย รวม 6 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์และยังได้เชิญแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุลแพทย์หญิงลาวัณย์ จึงประเสริฐ ผู้อำนวยการกองอาชีวอนามัยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โยธิน เบญจวัง ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ด้วย นอกจากนี้ เมื่อพยานฝ่ายลูกจ้างขอเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อม 3 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ ศาลแรงงานกลางก็ดำเนินการให้ตามความประสงค์จึงเห็นได้ว่าการจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นเพื่อตรวจอาการป่วยของจำเลยร่วมในคดีหมายเลขดำที่ 218/2538 และจำเลยร่วมทั้งสองในคดีนี้ล้วนเป็นไปตามความต้องการและความพอใจของจำเลยร่วมคดีดังกล่าว รวมทั้งจำเลยร่วมทั้งสองในคดีนี้และคู่ความทุกฝ่ายครั้นได้รายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแล้วศาลแรงงานกลางจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรให้มาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 30 ให้อำนาจไว้ การแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยร่วมทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share