คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1226/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าบ้านโจทก์อยู่อาศัยภายหลังที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ.2504 แล้วบ้านพิพาทจึงไม่เป็น “เคหะควบคุม” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ซึ่งบัญญัติว่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น หมายถึงการต่อสู้คดีด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ มีกำหนดซื้อคืนภายใน 1 ปี จำเลยไม่ไถ่คืนภายในเวลากำหนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินและบ้านที่จำเลยขายฝาก และครอบครองอยู่ ขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบริวาร

จำเลยรับว่า ขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์จริงแต่ได้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยต่อไป โจทก์จะขึ้นค่าเช่า จำเลยไม่ยอม จึงฟ้องขับไล่ จำเลยเช่าบ้านพิพาทเป็นที่อยู่อาศัย จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้เช่าบ้านพิพาทภายหลังที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 แล้วบ้านพิพาทจึงไม่เป็น “เคหะควบคุม” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง

ที่จำเลยฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บัญญัติว่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หมายถึงเฉพาะโจทก์ฝ่ายเดียวศาลฎีกาเห็นว่า หมายถึงการต่อสู้คดีด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะนำสืบได้ว่าได้มีการเช่า แต่เมื่อบ้านพิพาทไม่เป็นเคหะควบคุมโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ และได้บอกกล่าวแล้วจำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อีกต่อไป

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องว่า ได้แจ้งให้จำเลยออกจากบ้านพิพาทและที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยให้การปฏิเสธความข้อนี้ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เห็นว่า ตามรายงานชี้สองสถาน คดีมีประเด็นพิพาทแต่เพียงว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าฯ หรือไม่เท่านั้น จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องสืบกันอีกในข้อนี้

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share