คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จอดรถสาธารณะตามมาตรา 335(9) แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นเป็นที่จอดรถซึ่งสาธารณชนมีสิทธิจะนำรถของตนไปจอดได้ ดังนั้น ที่ซึ่งมีป้ายให้รถประจำทางหยุดรับส่งคนโดยสารเป็นระยะๆ ไป จึงไม่ใช่ที่จอดรถสาธารณะตามความมุ่งหมายของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2506 เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจลักสายสร้อยทองคำ 1 สาย พร้อมด้วยจี้ 1 อันรวมราคา 250 บาทของนางสังเวียน ชุ่มมนัส ซึ่งสวมอยู่ที่คอเด็กชายประพันธ์ ชุ่มมนัส ในบริเวณที่ป้ายจอดรถประจำทาง อันเป็นที่จอดรถสาธารณะ กับขอให้เพิ่มโทษจำเลยและกักกันด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ส่วนข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษรับว่าเป็นความจริง

ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 335(9) ให้จำคุก3 ปี เพิ่มโทษตามมาตรา 93 กึ่งหนึ่ง รวมเป็น 4 ปี 6 เดือนเมื่อพ้นโทษแล้วให้กักกันตามมาตรา 41 อีก 3 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาข้อกฎหมายเฉพาะที่ว่า ศาลจะหยิบยกคำให้การชั้นสอบสวนมาประกอบการพิจารณาพิพากษาไม่ได้ นอกนั้นไม่รับ

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลล่างหยิบยกเอาคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนมาพิจารณาด้วยนั้น ก็เพราะโจทก์ได้ระบุอ้างเอกสารในชั้นสอบสวนเป็นพยานโจทก์ไว้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 ศาลย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยประกอบกรณีได้ หาเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใดไม่

โดยที่ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุ เจ้าทรัพย์ไปคอยขึ้นรถประจำทางที่ป้ายจอดรถริมถนน แล้วถูกจำเลยกระชากสร้อยคอที่เด็กชายประพันธ์สวมอยู่ แล้วขึ้นรถประจำทางไป ดังนี้ จำเลยจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าที่จอดรถสาธารณะตามมาตรานี้น่าจะเป็นที่จอดรถซึ่งสาธารณชนมีสิทธิจะนำรถของตนไปจอดได้ แต่ที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นเพียงที่กำหนดโดยมีป้ายแสดงให้รู้ว่าเป็นที่รถประจำทางหยุดรับส่งคนโดยสารขึ้นลงในเวลาสั้นอันมีอยู่รายทางเป็นระยะไป หรือนัยหนึ่งคือที่รถหยุดเพื่อให้คนโดยสารขึ้นลงรถประจำทางเท่านั้นเอง หาใช่ที่จอดรถสาธารณะตามความมุ่งหมายของกฎหมายไม่ ดังนั้น ที่ศาลล่างชี้ขาดลงโทษจำเลยตามมาตรา 335(9) ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย แม้ความข้อนี้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาคัดค้านขึ้นมาก็ตาม ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้

อาศัยเหตุดังกล่าวมา จึงพร้อมกันพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้จำคุกจำเลยไว้ 2 ปี เพิ่มโทษตามมาตรา 93 อีกกึ่งหนึ่ง รวมเป็นโทษจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้นี้แล้ว ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share