คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2472

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานใช้ปืนยิงขู่ผู้ที่เข้าใจว่าเป็นผู้ร้ายแต่เผอิญกระสุนปืนไปถูกผู้นั้นตาย มีผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท วิธีพิจารณาอาญา อำนาจฟ้อง พี่ชายผู้ตายจะเข้าเป็นโจทก์ในคดีฆ่าฏกรรมต้องเป็นเจ้าทุกข์หรือผู้เสียหาย เทียบฎีกาที่ 212,213/2468

ย่อยาว

ได้ความว่าในตำบลที่เกิดเหตุมีผู้ร้ายปล้นทรัพย์กำลังหลบหนีอยู่ จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับคำสั่งนายอำเภอให้ออกตรวจผู้ร้ายในเวลากลางคืนจำเลยเห็นคนดำตะคุ่ม ๆ ห่างสัก ๓ วา จึงปฏิบัติตามคำสั่งของนายอำเภอคือ ถาม ๓ คำก่อน คนนั้นไม่ตอบกลับวิ่งหนี จำเลยจึงร้องบอกให้หยุดอีก ๓ คำก็ไม่หยุด จำเลยจึงเอาปืนยิงเคาไปต่ำ ๆ ๑ นัดโดยไม่เห็นตัว กระสุนปืนถูกคนนั้นตาย ปรากฎว่าเป็นนายล่ายกุ่ยซึ่งมิใช่เป็นผู้ร้าย และในระวางพิจารณานายล่ายยุพี่ชายนายล่ายกุ่ยยื่นคำร้องขอเข้าชื่อเป็นโจทก์กับอัยยการด้วย
ศาลเดิมสั่งคำร้องว่า นายล่ายยุไม่ใช่เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายล่ายกุ่ยยังมีภรรยาซึ่งเป็นญาติสนิธอยู่อีก แล้วตัดสินในสำนวนที่อัยยการเป็นโจทก์ว่า จำเลยเอาปืนยิงนายล่ายกุ่ยโดยสำคัญผิดว่าเป็นผู้ร้าย มีผิดตาม ม.๒๕๑ ประกอบด้วย ม.๕๒-๕๓ ให้จำคุก ๑ ปี แต่ให้รอการลงอาญาไว้
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นายล่ายยุมีสิทธิจะเข้าเป็นโจทก์ได้ เพราะนับว่าเป็นผู้เสียหายและตัดสินแก้ศาลเดิมว่า จำเลยมีผิดตาม ม.๒๔๙ ให้จำคุก ๑๕ ปี ลดตาม ม.๕๙ กึ่งหนึ่งคงเหลือ ๗ ปี ๖ เดือน
ศาลฎีกาตัดสินว่า นายล่ายยุไม่ได้รับความเสียหายอันใดจะมาเป็นเจ้าทุกข์ฟ้องไม่ได้ เพราะญาติของผู้ตายที่ควรเป็นโจทก์ยังมีอีก แลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยิงนายล่ายกุ่ยเพื่อขู่ มิได้มีเจตนาจะฆ่า แต่ได้ทำไปโดยปราสจากความระมัดระวังกระสุนปืนจึงไปถูกผู้ตายเข้า ความผิดของจำเลยต้องด้วย ม.๒๕๒ ให้จำคุก ๑ ปี ลดตาม ม.๕๙ ลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ เดือน แต่จำเลยได้ทำราชการในหน้าที่ ย่อมมีพลาดพลั้งบ้างเป็นธรรมดาทั้งไม่เคยต้องโทษมาแต่ก่อน จึงให้รอการลงอาญาไว้ตาม ม.๔๑-๔๒

Share