คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาว่าการกระทำเป็นกรรมเดียว หรือหลายกรรมต่างกันนั้นมิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียว คราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียว คราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน หรือมีเจตนาอย่างเดียวกัน แต่ประสงค์ให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐานต่างกัน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ย. ไปเพื่อการอนาจารและพรากเด็กหญิง ย.ไปเสียจากบิดามารดา ซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกันนั้น ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกันหาใช่กรรมเดียวไม่ (อ้างฎีกาที่ 340/2512 และฎีกาที่ 1215/2518)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเรามีกำหนด 6 ปี และฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 13 ปีไปเสียจากบิดามารดามีกำหนด 3 ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกในฐานแรก 2 ปี และในความผิดฐานหลัง 2 ปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 การฎีกาโต้แย้งเรื่องดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาของโจทก์จึงต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ (ก) เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิงยงหรือโฉมยง สินแสวง อายุ ๑๑ ปี จนสำเร็จความใคร่หลายครั้ง (ข) เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวัน จำเลยได้พาเด็กหญิงยงหรือโฉมยง สินแสวง อายุ ๑๑ ปี ไปเพื่อการอนาจาร โดยจำเลยใช้มีดเป็นอาวุธขู่เข็ญขืนใจและใช้กำลังกายฉุดลากให้เด็กหญิงยงหรือโฉมยง สินแสวง ไปกับจำเลยอันเป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม (ค) เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๙ เวลากลางวันจำเลยนี้โดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากเด็กหญิงยงหรือโฉมยง สินแสวง อายุ ๑๑ ปี ไปเสียจากนายหัด นางประหรือสะอาด สินแสวง ผู้เป็นบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยจำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิงยงหรือโฉมยง สินแสวง ดังกล่าวในข้อ (ก) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗, ๒๘๔, ๓๑๗, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒, ๗, ๑๐ และ ๑๒
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุกฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ มีกำหนด ๖ ปี ให้จำคุกฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ มีกำหนด ๓ ปี และให้จำคุกฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ มีกำหนด ๓ ปี รวมเป็นโทษจำคุก ๑๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้ ๖ ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษลงอีก
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ข้อหาพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และในข้อหาพรากเด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปีไปเสียจากบิดามารดาเป็นการกระทำอันเดียวกัน แต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องใช้บทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยเพียงบทเดียว และปัญหาความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดยังไม่เหมาะสมพิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราจำคุก ๒ ปี ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๒ ปี รวมจำคุกจำเลย ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำผิดของจำเลยฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี ไปเสียจากบิดามารดาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดก็เบาเกินไป ขอให้ลงโทษหนักขึ้นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิงยงหรือโฉมยงไปเพื่อการอนาจาร และการที่จำเลยพรากเด็กหญิงยงหรือโฉมยงไปเสียจากบิดามารดาซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกันนั้น จะเป็นความผิดหลายบทหรือหลายกระทงนั้น จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน และในการพิจารณาว่าเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น มิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน เช่นประกาศทางหนังสือรับสมัครบุคคลมาทำงานเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อมาสมัครงานอันเป็นความเท็จโดยเจตนาจะหลอกลวงประชาชนนั้น แม้จะประกาศครั้งเดียวหากมีเจตนาจะให้ประชาชนแต่ละคนมาสมัครทำงานสุดแล้วแต่ว่าผู้ใดจะหลงเชื่อมาสมัครหรือไม่ ถ้ามีประชาชนมาสมัครกันหลายคนก็เป็นต่างกรรมได้ ทั้งนี้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๐/๒๕๑๒ ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ นายประพนธ์ บุญยะพรหม จำเลย นอกจากนี้หากมีเจตนาอย่างเดียวกันแต่ประสงค์ให้เกิดผลเป็นความผิดหลายฐานต่างกัน ก็เป็นหลายกรรมต่างกันได้ เช่น มีอาวุธและมีวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะมีไว้ในเวลาเดียวกันก็เป็นความผิด ๒ กรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๑๕/๒๕๑๘ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสกลนคร โจทก์ นายถึง คิดทำ จำเลย เหตุนี้การที่จำเลยพาเด็กหญิงยงหรือโฉมยงไปเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานนี้ฐานหนึ่งแล้ว และการที่จำเลยพรากเด็กหญิงยงหรือโฉมยงไปเสียจากบิดามารดาของเด็กหญิงยงหรือโฉมยง จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดฐานนี้อีกฐานหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยดังกล่าวหาใช่กรรมเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นและศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดโทษจำเลยให้สูงขึ้น ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเรามีกำหนด ๖ ปี และฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี ไปเสียจากบิดามารดามีกำหนด ๓ ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกในฐานแรก ๒ ปี และในความผิดฐานหลัง ๒ ปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ การฎีกาโต้แย้งเรื่องดุลพินิจในการกำหนดโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๐ อีกกระทงหนึ่ง กำหนดโทษจำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share