คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมแบบเอกสารลับนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1660 หาได้บังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมไม่ แต่เมื่อได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660 บัญญัติไว้ทุกประการแล้วก็เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวพรทิพย์ นางสาวเพ็ญจิตและเด็กหญิงนิตยา จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายมา พรหมเมือง จำเลยทราบดีว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่ทายาทโดยชอบธรรมตลอดจนบุตรผู้เยาว์ทั้งสามคน แต่จำเลยมิได้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกต่าง ๆ ให้แก่บรรดาทายาท กลับเรียกร้องให้ทายาทและผู้รับมรดกตามพินัยกรรมมอบทรัพย์สินให้จำเลยเพื่อนำไปรวมเป็นกองมรดกกลาง และฟ้องโจทก์ขอให้มอบที่นาตำบลบ้านโสก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้จำเลยเพื่อนำมาแบ่งให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกจึงขอให้ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องในทรัพย์สินของผู้เยาว์ทั้งสามที่ได้รับตามพินัยกรรม ให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เยาว์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่าพินัยกรรมฉบับนั้นไม่มีวันเดือนปีขณะที่ทำพินัยกรรมจึงเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรมที่โจทก์อ้างสมบูรณ์ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวพรทิพย์ นางสาวเพ็ญจิต และเด็กหญิงนิตยา ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่ากฎหมายได้แยกการทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับไว้เป็น ๒ ตอน คือ ตอนแรกแสดงเจตนาของผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับการยกทรัพย์สินของตนให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเมื่อตายแล้ว และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๖๐(๑) บัญญัติไว้แต่เพียงว่าให้ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น หาได้บังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมนั้นด้วยไม่ ฉะนั้นการลงวันเดือนปีในตอนนี้จึงไม่เป็นการบังคับ ส่วนอีกตอนหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๓) และ (๔) นั้นเป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยกรมการอำเภอกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับซึ่ง เมื่อพิเคราะห์พินัยกรรมแบบเอกสารลับตามเอกสารหมาย จ.๑ แล้ว ก็เห็นว่าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖๐ บัญญัติไว้ทุกประการ จึงเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับได้
พิพากษายืน

Share