คำวินิจฉัยที่ 87/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ คัดค้านแนวเขตการรังวัดโฉนดที่ดินของผู้มีชื่อทั้ง ๙ แปลง โดยอ้างว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์นั้นไม่ชอบ เพราะผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่เคยยินยอมแบ่งหักที่ดินทั้ง ๙ แปลง เป็นทางสาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ก่อสร้างทางสาธารณประโยชน์รุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาททำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนที่พิพาทมิได้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือให้ชดใช้ค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหาย เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยืนคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทแล้วพบว่ามีการก่อสร้างเป็นถนนสาธารณะรุกล้ำที่ดินบางส่วนโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ คัดค้านแนวเขตที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ แต่เมื่อพิจารณาเจตนาของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อประสงค์จะให้ศาลรับรองและคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดก อันเนื่องมาจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่คัดค้านว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ไม่ใช่ที่ดินของผู้มีชื่อ ทั้งคำขอหลักของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ มิได้มีคำขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองแต่อย่างใด และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๗/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพัทยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นายปริวัตร อำนวยพล ที่ ๑ นางอรัญญา อำนวยพลหรือทองบ้านบ่อ ที่ ๒ นายอมรเทพ อำนวยพล ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ที่ ๑ กรมการปกครอง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๑๐/๒๕๕๗ และในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง โดยฟ้องนายกเทศมนตรีตำบลนาจอมเทียน ที่ ๓ นายอำเภอสัตหีบ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางซิวโป๊ แซ่ตั้ง หรืออำนวยพล ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒ ถึงเลขที่ ๒๐ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน ๙ แปลง ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินทั้ง ๙ แปลง ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะกระทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ได้คัดค้านว่าแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามทั้ง ๙ แปลงบางส่วนทางด้านทิศใต้รุกล้ำเข้าไปในเขตทางสาธารณประโยชน์ เป็นเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน ๑๖๒ ตารางวา ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่เคยยินยอมหรือประสงค์ที่จะแบ่งหักที่ดินทั้ง ๙ แปลงเป็นทางสาธารณประโยชน์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นการก่อสร้างทางสาธารณประโยชน์รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนที่พิพาทมิได้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือนางซิวโป๊ ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือให้ชดใช้ค่าที่ดินเป็นเงินจำนวน ๑,๖๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ เดิมเป็นทางเกวียนตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ ต่อมาได้พัฒนาเป็นทางลูกรังโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน การทำถนนในภายหลังได้ลาดยางปูผิวเอสฟัลท์ติกคอนกรีตและประชาชนใช้สัญจรไปมาโดยสุจริตเป็นเวลานานแล้ว การคัดค้านการขอรังวัดสอบเขตแนวโฉนดที่ดินเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการดำเนินการก่อสร้างถนนลาดยางที่พิพาทก็เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามทั้ง ๙ แปลง พบว่ามีการก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้มีคำพิพากษาให้ถนนที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดทั้ง ๙ แปลง หากไม่สามารถพิพากษาดังกล่าวได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าที่ดิน พร้อมดอกเบี้ย และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นที่จะพิจารณาว่าการก่อสร้างถนนพิพาทเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใด ๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้
ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นพิพาทเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่า ที่ดินเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกันเกี่ยวพันถึงการได้สิทธิในที่ดินโดยไม่มีผู้ใดรวมทั้งมารดาของผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคัดค้าน แม้มีประเด็นเกี่ยวพันถึงการโต้แย้งคัดค้านการรังวัดที่ดินซึ่งเป็นการกระทำตามขอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและในฐานะผู้แทนของหน่วยงานในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน แต่ก็ยังรับฟังว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นการละเมิดไม่ได้จนกว่าจะได้วินิจฉัยก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามว่า “ที่ดิน…ไม่ได้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์..” และมีคำขอต่อไปว่า “..หากไม่สามารถพิพากษาให้ทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นทางลาดยางเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๒ ถึงเลขที่ ๒๐ กลับมาเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าที่ดินทั้งหมดจำนวน ๑๖๒ ตารางวา เป็นเงินจำนวน ๑,๖๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม..” ซึ่งเป็นประเด็นที่โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยตรง การวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับการคัดค้านแนวเขตที่ดินสืบเนื่องจากที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันและมีมูลคดีเดียวกันกับประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ คัดค้านแนวเขตการรังวัดโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒ ถึงเลขที่ ๒๐ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนางซิวโป๊ทั้ง ๙ แปลง โดยอ้างว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์นั้นไม่ชอบ เพราะผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่เคยยินยอมแบ่งหักที่ดินทั้ง ๙ แปลง เป็นทางสาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ก่อสร้างทางสาธารณประโยชน์รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของนางซิวโป๊ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางซิวโป๊ได้รับความเสียหายเป็นเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน ๑๖๒ ตารางวา ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนที่พิพาทมิได้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสามหรือนางซิวโป๊ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒ ถึง เลขที่ ๒๐ ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือให้ชดใช้ค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของนางซิวโป๊แล้วพบว่ามีการก่อสร้างเป็นถนนสาธารณะรุกล้ำที่ดินบางส่วนโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ คัดค้านแนวเขตที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ แต่เมื่อพิจารณาเจตนาของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อประสงค์จะให้ศาลรับรองและคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒ ถึง ๒๐ ของนางซิวโป๊ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดก อันเนื่องมาจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่คัดค้านว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ไม่ใช่ที่ดินของนางซิวโป๊ ทั้งคำขอหลักของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ มิได้มีคำขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองแต่อย่างใด และการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางซิวโป๊หรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายปริวัตร อำนวยพล ที่ ๑ นางอรัญญา อำนวยพลหรือทองบ้านบ่อ ที่ ๒ นายอมรเทพ อำนวยพล ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ที่ ๑ กรมการปกครอง ที่ ๒ นายกเทศมนตรีตำบลนาจอมเทียน ที่ ๓ นายอำเภอสัตหีบ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share