แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองปกครองผิดสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน ขอให้ชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมีอำนาจในการจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงการสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น การที่จำเลยสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมระบบประปาจากโจทก์ แล้วว่าจ้างให้โจทก์ติดตั้งอุปกรณ์ที่สั่งซื้อดังกล่าวเพื่อทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อที่จำเลยจะได้นำน้ำประปาไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อประชาชน อันเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคในการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๙/๒๕๕๘
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแขวงนครสวรรค์
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงนครสวรรค์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สวรรค์รักษา โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านมะเกลือ จำเลย ต่อศาลแขวงนครสวรรค์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๗/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ จำเลยได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมระบบประปาจากโจทก์ เป็นจำนวนเงิน ๒๕๗,๘๐๐ บาท และโจทก์ทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้านของหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านมะเกลือ เพื่อที่จำเลยจะได้นำน้ำประปาไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนอุปโภคบริโภคต่อไป โจทก์ดำเนินการตามที่ตกลงไว้เรียบร้อยแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน ๒๕๗,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยสั่งซื้ออุปกรณ์ในการซ่อมแซมระบบประปาจากโจทก์ และไม่เคยว่าจ้างให้โจทก์ทำการซ่อมแซมระบบประปา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแขวงนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ลักษณะที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้านนั้น เป็นสัญญาที่เกิดจากโจทก์และจำเลยแสดงเจตนาด้วยใจสมัครในฐานะที่เท่าเทียมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้เป็นสัญญาที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้มอบหมายให้โจทก์ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินการทางปกครองแทนรัฐแต่อย่างใดไม่ ทั้งสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดให้ทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งไม่ปรากฏว่าในการว่าจ้างซ่อมแซมระบบประปาดังกล่าวแสดงถึงเอกสิทธิ์ของจำเลยว่ามีอยู่เหนือโจทก์ สัญญาพิพาทจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมีอำนาจในการจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงการสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น อันเป็นการพัฒนาตำบลภายในเขตรับผิดชอบของจำเลย การที่จำเลยสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมระบบประปาจากโจทก์ และว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้านของหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านมะเกลือ เพื่อความสะดวกในการจัดให้มีน้ำประปาให้กับประชาชนในการอุปโภคบริโภค อันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจของจำเลยในการจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ตามมาตรา ๖๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบกับมาตรา ๑๖ (๔) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซ่อมแซมระบบประปาให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๘๘/๒๕๕๖ และที่ ๑๔/๒๕๔๕
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมระบบประปาจากโจทก์ และว่าจ้างให้โจทก์ทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน โจทก์ดำเนินการตามที่ตกลงไว้เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และตามมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมีอำนาจในการจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงการสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่น ตามมาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบมาตรา ๑๖ (๔) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมระบบประปาจากโจทก์ แล้วว่าจ้างให้โจทก์ติดตั้งอุปกรณ์ที่สั่งซื้อดังกล่าวเพื่อทำการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อที่จำเลยจะได้นำน้ำประปาไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อประชาชน อันเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคในการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลย สัญญาพิพาทจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสาธารณูปโภคอันเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สวรรค์รักษา โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านมะเกลือ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ