แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่โจทก์อ้างว่า เป็นเจ้าของที่ดินและขอสวมสิทธิการรังวัดออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เนื้อที่ ๙ ไร่ ๔๖ ตารางวา จำเลยที่ ๑ ได้ชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินและจำเลยที่ ๔ มีคำสั่งแก้ไขและแจ้งคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ เพียงบางส่วน คำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานที่ดิน และให้จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งแปลง ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกันว่า เจ้าพนักงานที่ดินมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๖/๒๕๕๘
วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ บริษัททอมมี่ สมายล์เวิลด์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องนายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายวิสันต์ บุญโยธา ที่ ๓ นายวิสุทธิ์ วงศ์วุฑฒิ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๒๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๐๒ ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๙ ไร่ ๔๖ ตารางวา โดยซื้อมาจากนางสุรีรัตน์ ปลื้มรุ่งโรจน์ ต่อมาปี ๒๕๕๖ โจทก์ขอสวมสิทธิการรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่ในการรังวัดที่ดิน จำเลยที่ ๑ เจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๐๔ เลขที่ ๒๒๐๐ และเลขที่ ๕๔๕๐ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์ได้ชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออก เป็นเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๓ ได้สอบสวนเปรียบเทียบ แล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ จำนวนเนื้อที่ ๘ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่าจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์โดยสุจริต สงบและเปิดเผย คิดเป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว และเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๔ ได้มีคำสั่งแก้ไขและแจ้งคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ จำนวนเนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๒ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่าที่ดินจำนวน ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา อยู่นอกเขตยึดถือครอบครองทำประโยชน์ของโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทราบจากการรังวัดออกโฉนดที่ดินอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ ๑ ชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่มีสิทธิครอบครอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา เป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องและให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ และให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ทำที่ดินให้มีสภาพดีดังเดิม และเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ และให้จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๔๖ ตารางวา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา โดยได้ปลูกสร้างที่พักอาศัยบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๐๔ และปลูกไม้ยืนต้นด้านทิศตะวันตกของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๐๔ เลขที่ ๒๒๐๐ และเลขที่ ๕๔๕๐ โดยได้ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยเจตนายึดถือเพื่อตนมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนางสุรีรัตน์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกันว่า เจ้าพนักงานที่ดินมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ยังมิได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบ โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ขั้นตอน และระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ใดมีสิทธิครอบครอง แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๔ ตารางวา ซึ่งขาดหายไปเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และขอให้จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๔๖ ตารางวา กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ศาลตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนออกคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบ ตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันกระทำการหรือออกคำสั่งทางปกครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้ว่าจะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ด้วยก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ในการพิจารณาและศาลปกครองจะนำมาประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับข้อพิพาทระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน เป็นกรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับมูลความแห่งคดีพิพาทระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในเรื่องการออกคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบ จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาโดยศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและขอสวมสิทธิการรังวัดออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๐๒ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๔๖ ตารางวา ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดิน ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๐๔ เลขที่ ๒๒๐๐ และเลขที่ ๕๔๕๐ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์ ในการรังวัดที่ดิน จำเลยที่ ๑ ได้ชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา จำเลยที่ ๓ ได้สอบสวนเปรียบเทียบ แล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่าจำเลยที่ ๑ ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๔ ได้มีคำสั่งแก้ไขและแจ้งคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๑ งาน ๒ ตารางวา โดยให้เหตุผลว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตยึดถือครอบครองทำประโยชน์ของโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓๕ ตารางวา เป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ทำที่ดินให้มีสภาพดีดังเดิม และเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ และให้จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๔๖ ตารางวา จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเจ้าของเดิมไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องเพื่อเอาคืนภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกันว่า เจ้าพนักงานที่ดินมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ ยังมิได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบ โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหาย และได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ข้อหาและข้อต่อสู้เป็นเรื่องโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิครอบครองการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัททอมมี่ สมายล์เวิลด์ จำกัด โจทก์ นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายวิสันต์ บุญโยธา ที่ ๓ นายวิสุทธิ์ วงศ์วุฑฒิ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ