แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ว่าจ้างจำเลยทำแม่พิมพ์พื้นเตารีดในราคา 100,000 บาท จำเลยทำเสร็จพร้อมกับได้รับค่าจ้างแล้ว หลังจากนั้นโจทก์จ้างจำเลยใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวผลิตพื้นเตารีดโดยโจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระ คือแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น และจำเลยต้องผลิตพื้นเตารีดตามจำนวนแท่งทองแดงนำความร้อนดังกล่าวในราคาค่าจ้างชิ้นละ 32 บาท จำเลยผลิตเสร็จแล้วและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าจ้าง 536,384 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระ กลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พร้อมทั้งแท่งทองแดงนำความร้อน 16,762 ชิ้น คืนโจทก์ จำเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงแม่พิมพ์และแท่งทองแดงนำความร้อนอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นเตารีด ต่อมาจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป ถือได้โดยปริยายว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน เมื่อโจทก์จำเลยคู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงกันไว้และไม่มีทางจะบังคับเป็นอย่างอื่น ก็ต้องอนุโลมบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ โจทก์จำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับแม่พิมพ์หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 100,000 บาท
สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. 391 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ มาตรา 391 วรรคสี่ ยังบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215, 216 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำการผลิตพื้นเตารีดตามที่โจทก์สั่งเสร็จแล้วแต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างซึ่งจำเลยทวงถามให้ชำระแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดก่อนมีการเลิกสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้แม้ภายหลังโจทก์จำเลยจะเลิกสัญญาต่อกัน และแม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นเตารีดที่ผลิตเสร็จให้โจทก์ โดยจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับการงานอันจำเลยได้กระทำให้ที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้มาในคำให้การแล้ว ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลย แล้วนำมาหักกับราคาแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ก่อนได้ ตามหลักในเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 369
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พื้นเตารีดรุ่น 9/2390 จำนวน 1 ชุด และแท่งทองแดงนำความร้อนจำนวน 16,762 ชิ้น คืนให้แก่โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 615,469.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 594,921.85 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พื้นเตารีดรุ่น 9/2390 จำนวน 1 ชุดและแท่ง ทองแดงนำความร้อนจำนวน 16,762 ชิ้น ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาแทนรวมเป็นเงิน 301,144 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยส่งมอบแท่งทองแดงนำความร้อนหรือใช้ราคาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 โจทก์ว่าจ้างจำเลยทำแม่พิมพ์พื้นเตารีดรุ่น 9/2390 จำนวน 1 ชุด ในราคา 100,000 บาท จำเลยได้ทำเสร็จพร้อมกับได้รับค่าจ้างแล้ว หลังจากนั้นโจทก์จ้างจำเลยใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวผลิตพื้นเตารีดโดยโจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระ คือแท่งทองแดงนำความร้อนที่ใช้ในการผลิตพื้นเตารีดให้แก่จำเลย และจำเลยต้องผลิตพื้นเตารีดตามจำนวนแท่งทองแดงดังกล่าวราคาค่าจ้างชิ้นละ 32 บาท เมื่อจำเลยผลิตเสร็จโจทก์จะต้องชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยก่อนแล้วจำเลยจึงส่งมอบสินค้าที่ผลิตให้โจทก์จัดส่งแท่งทองแดงนำความร้อนจำนวน 16,762 ชิ้น ไปให้จำเลยผลิตเป็นพื้นเตารีดเสร็จแล้วและจำเลยแจ้งให้โจทก์ชำระค่าจ้างจำนวน 536,384 บาท แต่โจทก์ไม่ชำระค่าจ้าง กลับมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบแม่พิมพ์พร้อมทั้งแท่งทองแดงนำความร้อนจำนวน 16,762 ชิ้น ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงแม่พิมพ์และแท่งทองแดงนำความร้อนดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นเตารีดที่จำเลยผลิตสำเร็จแล้วไว้ ต่อมาจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดจำนวนที่พิพาทตามฟ้องออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป อันถือได้โดยปริยายว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน เมื่อโจทก์จำเลยคู่สัญญาไม่ได้มีข้อตกลงกันไว้และไม่มีทางจะบังคับเป็นอย่างอื่นก็ต้องอนุโลมบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คือ โจทก์จำเลยจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม สำหรับแม่พิมพ์พื้นเตารีดยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยคืนแม่พิมพ์พื้นเตารีดแก่โจทก์ หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 100,000 บาท แทน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำค่าผลิตพื้นเตารีดของจำเลยมาหักกับค่าแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานที่ได้ทำไปในระหว่างที่สัญญายังคงมีผล จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้ส่งมอบการงานที่ได้ทำไปแล้วให้แก่โจทก์ตามความเป็นจริง โดยโจทก์ได้ใช้ทรัพย์นั้นแต่ยังไม่ชำระเงินค่าแห่งการงาน แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยมิได้ส่งมอบการงานที่อ้างว่าได้ทำเสร็จแล้วให้แก่โจทก์ และสิทธิเรียกร้องขอหักกลบลบหนี้ค่าแห่งการงานอันจำเลยได้กระทำให้ดังกล่าว จำเลยต้องให้การและฟ้องแย้งหรือกล่าวอ้างในคำให้การ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยกำหนดค่าแห่งการงานให้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวน 201,144 บาท แล้วทำการหักลบหนี้จนเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องชดใช้ราคาแท่งทองแดงนำความร้อนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า สัญญาที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยผลิตพื้นเตารีดเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์กับจำเลยต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ มาตรา 391 วรรคสี่ ยังบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 215, 216 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ทำการผลิตพื้นเตารีดตามที่โจทก์สั่งจำนวน 16,762 ชิ้น เสร็จแล้ว แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างซึ่งจำเลยทวงถามให้ชำระแล้ว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดก่อนมีการเลิกสัญญาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้แม้ภายหลังโจทก์จำเลยจะเลิกสัญญาต่อกัน และแม้กรณีนี้จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นเตารีดที่ผลิตเสร็จให้โจทก์ โดยจำเลยได้แยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออกจากกันจนไม่มีสภาพเป็นพื้นเตารีดอีกต่อไป จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับการงานอันจำเลยได้กระทำให้ที่จำเลยจะมีสิทธิได้รับค่าแห่งการงานนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่จำเลยก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเสียหายส่วนนี้มาในคำให้การแล้ว ศาลจึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลย แล้วนำมาหักกับราคาแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ก่อนได้ ตามหลักในเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 392 ประกอบมาตรา 369 เมื่อคำนึงถึงค่าจ้างที่จำเลยควรได้รับจากการผลิตพื้นเตารีดให้โจทก์เสร็จแล้วจำนวน 16,762 ชิ้น คิดเป็นเงิน 536,384 บาท แต่เนื่องจากโจทก์ผิดนัดจำเลยจึงไม่ได้รับชำระราคาจนจำเลยต้องบรรเทาความเสียหายของตนเองโดยการแยกอะลูมิเนียมออกจากแท่งทองแดงนำความร้อนที่ผลิตเป็นพื้นเตารีดออก จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ชดใช้แก่จำเลยเป็นเงิน 201,144 บาท ซึ่งเมื่อหักกับค่าแท่งทองแดงนำความร้อนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์จำนวน 201,144 บาท เช่นเดียวกันแล้ว จึงคงเหลือเพียงแม่พิมพ์เตารีดรุ่น 9/2390 จำนวน 1 ชุด ที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ต้องชดใช้ราคา 100,000 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ