คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3962/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยต่อมาจำเลยมอบอำนาจให้ บ.ยื่นคำขอออกโฉนดและมอบให้ดูแลที่ดินพิพาทแทน เมื่อ บ.นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาทโจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ บ. และทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินคัดค้านการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เมื่อ บ.ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานว่าโจทก์เข้ามาปลูกบ้านในที่ดินของจำเลย และเจ้าพนักงานเรียกคู่กรณีมาเจรจาโจทก์ก็อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยมาเป็นยึดถือเพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 และนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องแย้งเกิน 1 ปีแล้วจำเลยจึงหมดสิทธิที่จะเรียกที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินอยู่อาศัย 1 แปลง เนื้อที่ 2 งาน 50 ตารางวา เป็นที่ดินมีใบไต่สวนหน้าสำรวจ 42 ตำบลอิสาณ อำเภอบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์โจทก์ได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการเข้าครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว เมื่อปลายปี พ.ศ. 2525 จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ รังวัดที่ดินของโจทก์เพื่อขอออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นของจำเลย โจทก์ได้คัดค้านไว้และยังคงครอบครองที่ดินดังกล่าวมาจนปัจจุบัน เจ้าพนักงานที่ดินจึงให้โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยจำเลยซื้อมาจากนายชุ่ม พิณศิริกุล เมื่อปี พ.ศ. 2499 จำเลยได้ยื่นขอใบไต่สวนและนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน โจทก์เป็นผู้มาขออาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนเจตนายึดถือการครอบครองที่ดินพิพาทว่าจะครอบครองเพื่อตน เมื่อปี พ.ศ. 2524 จำเลยมอบอำนาจให้นายบุญมีไปขอรังวัดออกโฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกไปรังวัดตรวจสอบที่ดินของจำเลยเพื่อออกโฉนด โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อปี พ.ศ. 2525 เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนแล้วเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ทราบว่าจำเลยยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โจทก์ไปคัดค้าน แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป จึงฟ้องแย้งขอให้พิพากษาขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลย ห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือบุคคลอื่นโต้แย้ง จำเลยจึงขาดสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทต่อไป ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องต่อไป ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยหรือไม่ ฝ่ายจำเลยมีนายนาค แก้วกระโทกนายยัง สุภรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกับที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ตามลำดับเป็นพยานเบิกความว่า นายชุ่มยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2515นายคล้ายได้เข้าไปปลูกกระท่อมอยู่ เมื่อนายคล้ายกับนางแพง แขวงเดโช ภรรยาย้ายออกไปแล้ว โจทก์จึงเข้าไปอยู่อาศัยแทน โดยมีนายบุญมีและนางแพงเบิกความรับรองว่านายบุญมีซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาทให้จำเลยได้อนุญาตให้โจทก์เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท นอกจากนั้นจำเลยยังมีนายประยูร ศรีนวล นักวิชาการที่ดิน 4 สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเคยขอใบไต่สวนเพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ตามเอกสารหมาย ล.13 เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีทั้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินพิพาท และเจ้าพนักงานที่ดินตลอดจนเอกสารของทางราชการจึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนโจทก์ซึ่งเบิกความกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า โจทก์ได้เข้าครอบครองอยู่อาศัยนั้น คงมีแต่ตัวโจทก์เบิกความกล่าวอ้างขึ้นมาเพียงลำพังนายกฤษดา สังข์จันทรานนท์ ซึ่งเป็นพยานโจทก์ก็เบิกความเพียงว่า เห็นโจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ที่ดินพิพาทจะเป็นของใครพยานไม่ทราบ คำของนายกฤษดาจึงมิได้บ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่เริ่มแรก นอกจากนี้หลังจากที่จำเลยโดยนายบุญมีผู้รับมอบอำนาจนำเจ้าพนักงานทำการรังวัดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2525 ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2525 โจทก์ได้ไปให้ถ้อยคำต่อช่างแผนที่ผู้ทำการรังวัดขอคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แต่โจทก์ได้อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวมาเกินกว่า 10 ปีแล้วปรากฏตามบันทึกถ้อยคำในบัญชีเอกสารเรื่องราวการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินรายนายสมบูรณ์ ศิลปวิจิตร อันดับที่ 55ซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้ส่งให้แก่ศาลชั้นต้นตามหนังสือที่ บร 0020/4193 ลงวันที่ 20 กันยายน 2527 ดังนั้นที่โจทก์อ้างว่าได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ จึงขัดกับบันทึกถ้อยคำที่โจทก์ให้ไว้ต่อช่างแผนที่ผู้ทำการรังวัดที่ดินพิพาทตามเอกสารดังกล่าวข้างต้น พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยดังที่จำเลยนำสืบ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้อาศัยสิทธิของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า เอกสารหมาย จ.1 ยังไม่ถือว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเพื่อตน เนื่องจากไม่ได้ยื่นคำขอตามระเบียบของทางราชการโจทก์เพิ่งทำคำขอคัดค้านตามระเบียบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2526 เมื่อนับถึงวันฟ้องแย้งยังไม่ถึง 1 ปี จำเลยจึงมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกคืนที่ดินพิพาทจากโจทก์นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 ได้บัญญัติให้บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบุคคลนั้นบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป คดีนี้ได้ความว่า จำเลยมอบอำนาจให้นายบุญมียื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนตามเอกสารหมาย ล.10และมอบให้เป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาทด้วยเมื่อนายบุญมีนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาทในวันที่ 12 ตุลาคม 2525 โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายบุญมีในวันเดียวกันนั้นเองตามเอกสารหมาย จ.9 ทั้งยังได้ทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ คัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดให้จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 นอกจากนี้นายสุขุม จันทรจรัลวัฒน์ พยานจำเลยเองก็เบิกความว่า ขณะพยานรับราชการเป็นปลัดอำเภอเมืองบุรีรัมย์ในปี พ.ศ. 2523 นั้น นายบุญมีได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์เข้ามาปลูกบ้านในที่ดินจำเลย ซึ่งนายบุญมีเป็นผู้ดูแลแทน พยานได้เรียกคู่กรณีมาเจรจากัน แต่ตกลงกันไม่ได้เนื่องจากโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวมาถือได้ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยมาเป็นยึดถือเพื่อตนเองแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์และจำเลยฟ้องแย้งคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับตั้งแต่พฤติการณ์ที่ถือว่าโจทก์ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือดังกล่าวเช่นนี้ จึงหมดสิทธิที่จะเรียกคืนที่ดินพิพาทจากโจทก์”
พิพากษายืน

Share