คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6276/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 มิได้ให้การปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้จำเลยที่ 4 ให้การว่าห้าง จำเลยที่ 1 ไม่เคยผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้อันโจทก์จะอ้างกับห้างจำเลยที่ 1 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าได้ให้การปฏิเสธเกี่ยวกับลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายย่อมเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ทำให้ไม่มีประเด็นเรื่องนี้ การที่จำเลยที่ 4นำสืบปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ถือหุ้นในห้างจำเลยที่ ๑ ต่อมาได้โอนหุ้นให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ แต่จำเลยที่ ๓และที่ ๔ ยังต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ก่อขึ้นก่อนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ออกจากหุ้นส่วน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๗จำเลยที่ ๒ นำเช็คซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ ๖เป็นผู้สลักหลังรวม ๕ ฉบับ เป็นเงิน ๓๑๘,๒๐๐ บาท มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ในด้านการค้ากับโจทก์ โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คและนำเช็คปราศจากมูลหนี้มาฟ้องโดยไม่สุจริต เช็คตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข๑๐ และ ๑๒ มิได้ประทับตามสำคัญของจำเลยที่ ๑ ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดชอบ หนี้ตามเช็คเกิดขึ้นภายหลังจำเลยที่ ๔ ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ ๑ แล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน ๒๐๐,๐๐๐บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๖๐,๐๐๐บาท นับจากวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ เป็นต้นไป ในต้นเงิน ๗๐,๐๐๐บาท นับแต่จากวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป และในต้นเงิน๗๐,๐๐๐ บาท นับจากวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจะต้องไม่เกิน ๑๒,๙๗๗.๐๘ บาท ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๑๑๘,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท นับจากวันที่๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไปและในต้นเงิน ๕๘,๒๐๐ บาท นับจากวันที่๑๐ เมษายน ๒๕๒๗ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๒ จำชำระเสร็จแก่โจทก์เมื่อคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจะต้องไม่เกิน ๗,๐๒๓.๗๕ บาท
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ว่า จำเลยที่ ๒ ในฐานะกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท และทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มีนายสมเจตน์ เจตพิพัฒน์รองผู้จัดการธนาคารตามเช็คพิพาท เป็นพยานเบิกความประกอบกับคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้ความว่าเช็คหมาย จ.๖ ถึงจ.๘ นั้น จำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และจำเลยที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ ๑ด้วย ดังนี้จำเลยที่ ๔ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๔ มิได้ให้การปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท แม้จำเลยที่ ๔ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ ไม่เคยผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้อันโจทก์จะอ้างกับจำเลยที่ ๑ ได้ก็ตาม ก็ไม่ชัดแจ้งว่าได้ให้การปฏิเสธเกี่ยวกับลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ย่อมเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสองถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๔ ได้ให้การปฏิเสธในข้อดังกล่าวไว้ ทำให้ไม่มีประเด็นเรื่องนี้จะนำสืบ การที่จำเลยที่ ๔ นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ ๒ นั้นจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ
พิพากษายืน.

Share