แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ โจทก์อ้างว่าเงินช่วยงานแต่งงานเป็นสินสมรสที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาภายหลังที่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเก็บไว้ โจทก์จึงขอแบ่งเงินจากจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องแบ่งเงินให้แก่โจทก์ เนื่องจากไม่มีเงินเหลือที่จะแบ่ง และเงินดังกล่าวเป็นลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี ก็ตาม แต่ประเด็นพิพาทแห่งคดียังคงมีว่าจำเลยที่ 1 ต้องแบ่งเงินช่วยงานแต่งงานซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 พิพาทกันในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการสิ้นสุดแห่งการสมรสซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 มาตรา 1470, 1474 และมาตรา 1532 ถึง 1535 คำฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นคดีครอบครัวซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 2 คน ระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยา จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ฉันภริยา และจดทะเบียนสมรสซ้อน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรตามสมควร ทำให้โจทก์กับบุตรได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์อับอายขายหน้า เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง ในระหว่างสมรสโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำมาหากิน มีสินสมรสหลายรายการ เป็นเงินรายได้จากการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้บริหารในห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด เงินสดที่จำเลยที่ 1 นำไปฝากไว้ในบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 เงินช่วยงานแต่งงานของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ได้จัดงานแต่งงานภายหลังจากโจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันแล้ว และมีหนี้สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน โดยให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองและโจทก์ จ่ายค่าเลี้ยงชีพ ค่าทดแทน ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทน แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ให้แบ่งสินสมรสซึ่งเป็นเงินรายได้จากการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น ผู้บริหารอยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัท แบ่งเงินสดที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 แบ่งเงินที่ได้จากเงินช่วยงานแต่งงานของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับโจทก์รับผิดชำระหนี้กู้ยืม ตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 กับโจทก์ขาดจากการเป็นสามีภริยาทางพฤตินัยกันอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปี 2554 จากนั้นจำเลยที่ 1 จึงเริ่มคบหากับจำเลยที่ 2 ประมาณต้นปี 2555 จำเลยที่ 1 เคยลงลายมือชื่อในเอกสารการหย่ามอบไว้แก่โจทก์แล้ว หลังจากคบหากับจำเลยที่ 2 ได้ประมาณ 1 ปี จำเลยที่ 1 จึงชักชวนจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองสมุทรปราการ ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบสถานะของตนเองแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าโสด จึงเข้าใจว่าได้หย่าขาดกับโจทก์แล้ว และจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยา ไม่ได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เพราะทุกคนทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกรากันแล้ว ระหว่างคบหากับจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินที่ทำมาหาได้กับโจทก์ไปประกอบธุรกิจกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และครอบครัวของจำเลยที่ 1 ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองด้วยดีตลอดมา โจทก์มีรายได้จากธุรกิจที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาให้ระหว่างที่เป็นภริยาจำเลยที่ 1 ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่สามารถจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองได้ แต่ก็ให้บิดาจำเลยที่ 1 นำเงินมาจ่ายแทน หากถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 1 ก็พร้อมที่จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อไป จำเลยที่ 1 จึงยังคงมีอำนาจปกครองบุตรทั้งสอง ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และค่าเลี้ยงชีพ โจทก์ไม่ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินส่วนนี้ สำหรับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าเสียหายอย่างไร และคดีขาดอายุความ จึงไม่มีสิทธิเรียก จำเลยที่ 1 ไม่มีรายได้อยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดตามฟ้อง เงินในบัญชีธนาคารไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 เงินช่วยงานแต่งงานก็ไม่มีเหลือ เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำไปใช้จัดงานแต่งงาน และเงินดังกล่าวถือเป็นลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงสิทธิที่จะเรียกคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง และคดีนี้ไม่ใช่คดีครอบครัว ตามคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ยช.22/2550 ไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ในหนี้เงินกู้ เนื่องจากปัจจุบันจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อโจทก์และบิดาโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ในหนี้เงินกู้ จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินกู้ยืมจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เคยสมรสมาก่อน ในวันจดทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานะบุคคลของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 มีสถานะโสดและจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำแก่เจ้าหน้าที่ว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 2 จึงจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ไม่ได้กระทำละเมิดแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกมาไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เงินที่เข้าบัญชีธนาคารจำเลยที่ 2 มิใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่เป็นเงินที่ได้จากการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดไกล่เกลี่ยหรือชี้สองสถาน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าคำฟ้องส่วนที่เกี่ยวกับเงินช่วยงานแต่งงานเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองและโจทก์ จ่ายค่าเลี้ยงชีพ ค่าทดแทน และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ แบ่งสินสมรสซึ่งเป็นเงินรายได้จากการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น และผู้บริหารอยู่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัท แบ่งเงินและเงินที่ได้จากเงินช่วยงานแต่งงานของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับโจทก์รับผิดชำระหนี้กู้ยืม ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การในส่วนที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องแบ่งเงินช่วยงานแต่งงานแก่โจทก์เพราะจำเลยที่ 1 นำไปใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานหมดแล้ว และเงินดังกล่าวเป็นลาภมิควรได้ โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง และไม่ใช่คดีครอบครัว เห็นว่า ตามคำฟ้องสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ โจทก์อ้างว่าเงินช่วยงานแต่งงานเป็นสินสมรสที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาภายหลังที่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเก็บไว้ โจทก์จึงขอแบ่งเงินจากจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องแบ่งเงินให้แก่โจทก์ เนื่องจากไม่มีเงินเหลือที่จะแบ่ง และเงินดังกล่าวเป็นลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี ก็ตาม แต่ประเด็นพิพาทแห่งคดียังคงมีว่าจำเลยที่ 1 ต้องแบ่งเงินช่วยงานแต่งงานซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 พิพาทกันในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการสิ้นสุดแห่งการสมรสซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1470, 1474 และมาตรา 1532 ถึง 1535 คำฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นคดีครอบครัวซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินช่วยงานแต่งงานอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 22 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2559
วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา