คำวินิจฉัยที่ 38/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 87 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่ำกว่าความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29, 40 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 26 วรรคสอง ดังกล่าว ประกอบมาตรา 24 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. คือศาลแขวงนครปฐมได้ กรณีไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลย ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้บุคคลผู้มีชื่อ ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส จำนวนหลายคนโดยขายสุราให้แก่บุคคลดังกล่าว อันเป็นการส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด เหตุเกิดที่ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29, 40 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4, 5, 26, 78
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29, 40 ปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ศาลนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามมาตรา 5 จึงให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในความผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยอ้างว่าความผิดดังกล่าวศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 5 นั้นแปลได้ว่าศาลชั้นต้นไปวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด การที่ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยเสียเองว่าความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เสร็จแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี
ศาลแขวงนครปฐม จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายสุราให้เด็กขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 78 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29, 40 เป็นกรรมเดียวกัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ มาตรา 5 บัญญัติให้ศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ และมาตรา 26 วรรคสอง บัญญัติไว้ด้วยว่าถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง มีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น ดังนี้ เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 87 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่ำกว่าความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29, 40 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 26 วรรคสองดังกล่าว ประกอบมาตรา 24 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือศาลแขวงนครปฐมได้ กรณีไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
วินิจฉัยว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 87 ในคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 19 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2559

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share