คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้… (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน” โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อประสาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์ไม่มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้างและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง การให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฐ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้ง 7 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ฉบับที่ สภ.4ปท./0001/2557
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับเหมามีรายได้จากสัญญาให้บริการที่สนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกแก่การทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโดยโจทก์เป็นผู้อำนวยความสะดวกตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ ภพ.73.1-04131020-25560109-005-0009 ถึง ภพ.73.1-04131020-25560109-005-0015 ลงวันที่ 9 มกราคม 2556 โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำฟ้องโจทก์และนางสาวลัลน์ณภัทร์ กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์มาเบิกความว่า โจทก์ประกอบกิจการรับเหมาโดยมีรายได้จากสัญญาให้บริการที่สนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกแก่การทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานอีกทีหนึ่ง โจทก์เป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน คอยติดต่อประสานงานเช่นการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับเวลาทำงาน การทำงาน ค่าแรง ค่าล่วงเวลา สิทธิแรงงานตามกฎหมาย เป็นตัวแทนแรงงานเพื่อรับค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างมาจ่ายให้กับแรงงาน ประสานงานให้กับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท้องที่ ดูแลผลประโยชน์ของแรงงานและผู้ว่าจ้าง จึงถือเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยมีนางสาวสุกาญดา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี มาเบิกความว่า การประกอบกิจการของโจทก์ไม่ใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการของโจทก์ปี 2554 มีรายรับจำนวน 11,090,246.13 บาท โจทก์จึงอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่โจทก์ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ยื่นแบบ ภ.พ.30 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ จำนวนเงิน 2,061,341.12 บาท โจทก์ทราบการประเมินโดยชอบแล้ว เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” ในกรณีที่ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ ละทิ้งการงานไป กระทำความผิดอย่างร้ายแรงหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างก็มีสิทธิที่จะไล่ออกโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้ค่าสินไหมทดแทนก็ได้ ตามมาตรา 583 นอกจากนี้ ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา มาตรา 586 ก็บัญญัติให้นายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างโดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวลัลน์ณภัทร์ กรรมการโจทก์ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อประสานงาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์มิได้มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้างและต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง การให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ฐ) ดังนี้ ที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประกอบกิจการของโจทก์เป็นการให้บริการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share