คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากพ้นกำหนดเวลาคืนทรัพย์ตามสัญญาแล้วโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยเตือนให้ส่งทรัพย์คืนหรือให้ใช้ค่าเสียหายตามสัญญานั้นแสดงว่าโจทก์ยังให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้โจทก์จึงจะถือเอาเหตุที่จำเลยไม่ส่งทรัพย์คืนตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นข้ออ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแต่ประการเดียวโดยไม่ยอมรับทรัพย์คืนหาได้ไม่
ข้อสัญญาระบุว่า เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วจำเลยจะต้องนำทรัพย์มาคืนไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในสภาพใดนั้นแม้ทรัพย์ที่นำมาคืนจะอยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วก็ตาม โจทก์ก็ต้องรับคืนจะเกี่ยงเรียกค่าเสียหายแทนหาได้ไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดสัญญา ให้ชดใช้เบี้ยปรับเป็นเงิน40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยหาเป็นผู้ผิดสัญญาไม่ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2517 โจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ฟิล์มภาพยนตร์ 4 เรื่องพร้อมด้วยอุปกรณ์ตามฟ้องโดยโจทก์เป็นฝ่ายขาย จำเลยเป็นฝ่ายซื้อ มีข้อตกลงกันว่า ผู้ซื้อจะนำฟิล์มภาพยนตร์ออกฉายตามโรงภาพยนตร์ชั้นสองในกรุงเทพมหานครและในจังหวัดต่าง ๆ เมื่อครบกำหนด3 ปีแล้ว ผู้ซื้อจะนำฟิล์มภาพยนตร์พร้อมด้วยอุปกรณ์คืนให้แก่ผู้ขาย ไม่ว่าฟิล์มภาพยนตร์นั้นจะอยู่ในสภาพใด หากไม่สามารถส่งคืน ผู้ขายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเรื่องละ 40,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาเมื่อครบกำหนดที่จำเลยจะต้องส่งฟิล์มภาพยนตร์พร้อมด้วยอุปกรณ์คืน จำเลยยังไม่ได้ส่งคืนตามสัญญา” ฯลฯ

“ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ฟิล์มภาพยนตร์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 ได้กำหนดเวลาส่งคืนฟิล์มภาพยนตร์ไว้แน่นอนเมื่อจำเลยไม่ส่งคืนในกำหนดย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญานั้น เห็นว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.9 ระบุว่าสัญญาทำขึ้นระหว่างนายชิตพล ลิมปิวิวัฒนกุล (โจทก์) แห่งบริษัทคิงส์ จำกัด ฝ่ายหนึ่ง กับนายพรพจน์กนิษฐเสน (จำเลย) อีกฝ่ายหนึ่ง การที่ระบุชื่อโจทก์แล้วมีข้อความว่า แห่งบริษัทคิงส์ จำกัด ต่อท้ายไว้เช่นนั้น อาจเป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่า โจทก์ทำสัญญาในนามบริษัทคิงส์ จำกัด ทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากทำสัญญากันแล้ว บริษัทคิงส์จำกัด ได้เลิกล้มกิจการไป จึงอาจเป็นได้ที่จำเลยไม่ทราบว่าจะต้องส่งคืนฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่ผู้ใดดังจำเลยยกเป็นข้อต่อสู้ อย่างไรก็ดีหลังจากพ้นกำหนดส่งฟิล์มภาพยนตร์คืน โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยเตือนให้ส่งฟิล์มภาพยนตร์คืน หรือให้ใช้ค่าเสียหายตามสัญญา แสดงว่า โจทก์ยังให้โอกาสจำเลยส่งฟิล์มภาพยนตร์คืนได้ ดังนั้น โจทก์จะถือเอาเหตุที่จำเลยไม่ส่งฟิล์มภาพยนตร์คืนตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นข้ออ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแต่ประการเดียว โดยไม่ยอมรับฟิล์มภาพยนตร์คืนหาได้ไม่

ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยได้ขอส่งคืนฟิล์มภาพยนตร์ให้โจทก์ แต่ฟิล์มภาพยนตร์นั้นเสื่อมสภาพใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วโจทก์จึงไม่ยอมรับคืน มีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิไม่ยอมรับคืนโดยจะเรียกค่าเสียหายตามสัญญาได้หรือไม่ พิจารณาสัญญาเอกสารหมาย จ.9 แล้ว ข้อ 5 ระบุว่าเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาซื้อขาย (สามปี) แล้ว ผู้ซื้อจะต้องนำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องที่ครบกำหนดมาคืนให้แก่ผู้ขาย (ไม่ว่าฟิล์มภาพยนตร์นั้นจะอยู่ในสภาพใด) ข้อความในวงเล็บแสดงให้เห็นได้ว่าคู่กรณีมุ่งหมายให้มีการคืนฟิล์มภาพยนตร์ต่อกันเท่านั้น ไม่จำกัดว่าฟิล์มภาพยนตร์นั้นจะอยู่ในสภาพใด ทั้งคดีไม่มีปัญหาโต้เถียงกันในเรื่องฟิล์มภาพยนตร์ที่จำเลยจะส่งคืนได้เสื่อมสภาพไปเพราะการใช้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อสัญญาดังกล่าว แม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่จำเลยขอส่งคืนจะอยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว โจทก์ก็ต้องรับคืน จะเกี่ยงเรียกค่าเสียหายแทนหาได้ไม่”

พิพากษายืน

Share