คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887-1890/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 3 ได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงิน ตามเช็ค ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ธนาคารที่มีชื่อในเช็คบอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ให้คดีเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ดังนี้ เมื่อคดีได้ความว่าธนาคารไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คทราบว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาตามมาตรา5 และไม่มีทางจะถือว่าพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ออกเช็คได้โอนทรัพย์สินให้แก่ผู้ทรงเช็คเป็นการชำระหนี้ตามเช็คกันเรียบร้อยแล้ว คดีย่อมเป็นอันเลิกกัน

ย่อยาว

คดีทั้ง 5 สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยสำนวนที่ 1-2-3 และ 4 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2510 เวลากลางวัน จำเลยได้ออกเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาสมุทรปราการ เลขที่ บี.499947 สั่งจ่ายเงิน 101,360 บาท ลงวันที่สั่งจ่าย 24 พฤศจิกายน 2510 และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2510 เวลากลางวันจำเลยได้ออกเช็ครวม 3 ฉบับ เป็นเช็คของธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาสมุทรปราการ 1 ฉบับ เลขที่ บี.499949 สั่งจ่ายเงิน 193,105 บาท ลงวันที่สั่งจ่าย 5 กุมภาพันธ์ 2511 เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาปทุมวัน 1 ฉบับ เลขที่ ก.เอฟ.1953964 สั่งจ่ายเงิน 35,000 บาท ลงวันที่สั่งจ่าย 20 มกราคม 2511 และเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาปทุมวัน 1 ฉบับ เลขที่ ก.เอฟ.1953965 สั่งจ่ายเงิน 35,160 บาท ลงวันที่สั่งจ่าย 20 กุมภาพันธ์ 2511 มอบให้บริษัทเกียรตินันทวัฒน์ จำกัด (โจทก์ร่วม) เป็นการชำระหนี้ค่าซื้อน้ำมัน แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีไม่พอจ่าย และออกเช็คโดยเจตนาไม่ใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลบางกะปิ อำเภอพระโขนง ตำบลบางกะปิ อำเภอพญาไท ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยในสำนวนทั้ง 4 นี้ให้การปฏิเสธ และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้บริษัทเกียรตินันทวัฒน์ จำกัด เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการโจทก์ได้ตามคำร้องขอ

ส่วนสำนวนที่ 5 ซึ่งนางพัชรี พรโสภณ เป็นโจทก์ ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันมอบอำนาจให้นายถวิล เพชรทองนำข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรีธนู หอมหวล พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจพญาไท เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2510 เวลากลางวัน ว่าโจทก์ออกเช็คธนาคารไทยพัฒนา สาขาสมุทรปราการ เลขที่ บี.499947 เงิน 101,360 บาท ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2510 ให้บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าเงินในบัญชีของโจทก์มีไม่พอจ่าย ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2510 โจทก์ได้ให้นายเพชรากับพวกไปตกลงประนีประนอมกับจำเลย ขอชำระหนี้ตามเช็คหมายเลข บี.499947โดยขอชำระเงินบางส่วนและออกเช็คให้ใหม่บางส่วน จำเลยตกลงยอมรับนายเพชรากับพวกจึงออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาประดิพัทธ์ดี.ส่วนเจ็ด 237888 จำนวนเงิน 30,000 บาท เงินสด 1,200 บาท กับเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาปทุมวันของโจทก์ สั่งจ่ายให้จำเลยอีก 2 ฉบับ คือหมายเลข เอฟ.1953964 เงิน 35,000 บาท ลงวันที่สั่งจ่าย 20 มกราคม 2511 หมายเลข เอฟ.1953965 เงิน 35,160 บาทลงวันที่สั่งจ่าย 20 กุมภาพันธ์ 2511 รวมเป็นเงิน 101,360 บาทเท่ากับจำนวนเงินในเช็คหมายเลข บี.499947 แต่จำเลยไม่คืนเช็คดังกล่าวให้ โจทก์ได้ติดตามทวงคืนหลายครั้งก็ไม่ได้เช็คคืนมาจนวันที่ 11 เมษายน 2511 โจทก์ถูกจับกุม จึงทราบว่าจำเลยนำเช็คหมายเลข บี.499947 ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโจทก์กระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นการนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น เหตุเกิดที่สถานีตำรวจพญาไท อำเภอพญาไท จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 172, 173 และมาตรา 174

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับรับฟ้องโจทก์

จำเลยในสำนวนที่ 5 ให้การปฏิเสธ

เมื่อศาลชั้นต้นให้รวมสำนวนพิจารณาแล้ว ศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกโจทก์ร่วมใน 4 สำนวนแรกและจำเลยในสำนวนที่ 5 ว่าโจทก์ร่วมส่วนโจทก์ในสำนวนที่ 5 ว่าจำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงสำหรับคดีสำนวนที่ 5 ว่าโจทก์ร่วมมิได้แจ้งความเท็จ ส่วนคดีสำนวนที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ออกเช็ค 4 ฉบับ ตามที่โจทก์นำมาฟ้องให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้ค่าซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วโจทก์ร่วมนำเช็ค 4 ฉบับไปขอรับเงินจากธนาคารไม่ได้ โดยธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ปรากฏว่าเช็ค 4 ฉบับนี้จำเลยได้โอนทรัพย์สินของจำเลยให้โจทก์ร่วม เป็นการชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ร่วม โดยนายวัฒนากรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วม เป็นผู้รับชำระหนี้แทน เมื่อเช่นนี้ความผูกพันของจำเลยที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คนั้น ๆ จึงไม่มีอยู่อีกต่อไป จำเลยในคดีทั้ง 4 สำนวนแรกจึงไม่มีความผิดฐานจ่ายเช็คไม่มีเงินตามโจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน

โจทก์ร่วมในคดี 4 สำนวนแรกและจำเลย (โจทก์ในสำนวนที่ 5) อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนคดีที่ 5 มิได้แจ้งความเท็จ และจำเลยในคดีสำนวนที่ 1 ถึงที่ 4 ได้โอนทรัพย์สินให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้โจทก์ร่วมแล้วการที่โจทก์ร่วมนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยไม่มีความผิด จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน

โจทก์ร่วมในคดี 4 สำนวนแรกฎีกาต่อมาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าเมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็หมายความว่าจำเลยได้กระทำผิดทางอาญาฐานออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินการที่จำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็ค หรือชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่ออกเช็คหามีผลทำให้จำเลยพ้นผิดในทางอาญาไม่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีตามปัญหาที่โจทก์ร่วมฎีกาขึ้นมาแล้ว เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงของคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ออกเช็ค 4 ฉบับตามโจทก์ฟ้องให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้แล้วโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น ๆ ไม่ได้ เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายการกระทำของจำเลยก็ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แล้ว แต่เรื่องนี้จำเลยยังมีทางจะพ้นผิดได้เมื่อได้ปฏิบัติตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 3 ได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ธนาคารที่มีชื่อในเช็คบอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่า ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้คดีเป็นอันเลิกกัน ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ซึ่งทางพิจารณาสำหรับคดี 4 สำนวนนี้ก็ฟังได้ว่าธนาคารที่มีชื่อในเช็คทั้ง 4 ฉบับมิได้บอกกล่าวให้จำเลยผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมาตรา 5 บัญญัติไว้ดังกล่าวและกรณีเรื่องนี้ได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าจำเลยได้ชำระเงินด้วยการโอนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ร่วมผู้ทรงเช็คเป็นการชำระหนี้ตามเช็คกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการชำระนั้นก็ยังไม่พ้นกำหนดเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 5 เพราะธนาคารไม่ได้บอกกล่าวแก่จำเลยให้ทราบว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลา และเมื่อไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาจึงไม่มีทางจะถือว่าพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ได้ คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามบทกฎหมายที่กล่าว ซึ่งศาลฎีกาก็ได้พิพากษาเป็นแบบอย่างไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1096/2507 คดีระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายอ้วงบู๊ หรือ ขุ่งกวง แซ่ตั้ง จำเลย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share