คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ชายทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้หญิงโดยใช้มือตบที่บริเวณใบหน้าเพียงครั้งเดียวมีความผิดอาญาข้อหาทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โจทก์กระทำอย่างอุกอาจในที่ประชุมต่อหน้าผู้บังคับบัญชาและพนักงานอื่น ๆ ในแผนกขณะกำลังประชุมเกี่ยวกับงานของจำเลย โดยโจทก์มิได้เคารพยำเกรงต่อที่ประชุมและผู้บังคับบัญชา มิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุห้ามไว้ ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือเป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย รวมทั้งไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงาน Supply line ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,424 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยมากกว่า 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 300 วัน เป็นเงิน 104,240 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 20 วัน เป็นเงิน 6,949 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 104,240 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,949 บาท รวมเป็นเงิน 111,189 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงาน Supply line แผนกประกอบชิ้นส่วน ฝ่ายโรงงาน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพียงเดือนละ 9,424 บาทและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกได้รับเงินค่าตำแหน่งอีกเดือนละ 500 บาท เงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท และเงินช่วยพิเศษเดือนละ 100 บาท ซึ่งเงินช่วยค่าครองชีพและเงินช่วยพิเศษมิได้เป็นค่าจ้าง เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2544 เวลาประมาณ 8 นาฬิกาซึ่งเป็นวันและเวลาทำงาน ขณะที่ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานกำลังดำเนินการประชุมพนักงานในหน่วยงานที่โจทก์ทำงานอยู่โดยมีการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาซึ่งจำเลยจะให้มีการทำงานล่วงเวลาเฉพาะงานที่ตกค้างอยู่และงานที่ยังทำไม่ทัน พนักงานส่วนหนึ่งที่จะได้ทำงานล่วงเวลามีนางสาวมณเฑียร แซ่ลือ ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยรวมอยู่ด้วย แต่เนื่องจากพนักงานของจำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวได้มีข้อตกลงกันว่าหากจำเลยไม่เปิดทำงานล่วงเวลาในทุกหน่วยงานพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจะไม่ยอมทำงานล่วงเวลาโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วยไม่พอใจและพูดต่อว่านางสาวมณเฑียร นางสาวมณเฑียรชี้แจงว่าผู้บังคับบัญชาให้ทำงานล่วงเวลาเฉพาะงานที่ตกค้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่พอใจและใช้มือตบหน้าของนางสาวมณเฑียรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย นางสาวมณเฑียรแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ โจทก์ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับโจทก์แล้ว จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่าโจทก์กระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 38(3), 39(1)ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นเลิกจ้างได้ตามข้อ 43.1 โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายจำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,424 บาท โดยแบ่งเป็นเงินเดือน 9,424 บาท เงินค่าตำแหน่งเดือนละ 500 บาทเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท และเงินช่วยพิเศษเดือนละ 100 บาท และจำเลยแถลงสละประเด็นเกี่ยวกับค่าจ้างอัตราสุดท้าย

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 104,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 26 เมษายน 2544) เป็นต้นไป และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 6,949 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายนางสาวมณเฑียร แซ่ลือ โดยใช้มือตบถูกที่บริเวณใบหน้าของนางสาวมณเฑียรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจริง แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ววินิจฉัยว่า แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะระบุไว้ว่าการทะเลาะวิวาทหรือการทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมงานเป็นการผิดวินัยกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การกระทำใด ๆ ที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงที่จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจะต้องเป็นไปตามลักษณะแห่งการกระทำเป็นเรื่อง ๆ ไป จะพิจารณาจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตายตัวเสมอไปหาได้ไม่ เมื่อโจทก์มีเหตุโต้เถียงกับนางสาวมณเฑียรพนักงานในแผนกเดียวกัน และใช้มือตบที่บริเวณใบหน้าของนางสาวมณเฑียรเพียงครั้งเดียว นางสาวมณเฑียรเพียงรู้สึกชาบริเวณกกหูซ้ายโดยไม่มีบาดแผลซึ่งเป็นเพียงความผิดอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดลหุโทษเท่านั้น จึงเป็นเพียงความผิดเพียงเล็กน้อย อีกทั้งโจทก์ก็มิได้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญถึงขนาดที่จะกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงหรือการบังคับบัญชาของนายจ้างนอกจากนี้การกระทำของโจทก์ไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าลักษณะการกระทำของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าการที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายร่างกายนางสาวมณเฑียรโดยใช้มือตบที่บริเวณใบหน้าของนางสาวมณเฑียรเพียงครั้งเดียวและมีผลเพียงทำให้นางสาวมณเฑียรรู้สึกชาบริเวณกกหูซ้ายโดยไม่มีบาดแผล มีความผิดอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อันเป็นเพียงความผิดลหุโทษเท่านั้นก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้ชาย พนักงานที่ถูกโจทก์ทำร้ายดังกล่าวเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ได้ความว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าวอย่างอุกอาจในที่ประชุมต่อหน้าผู้บังคับบัญชาและพนักงานอื่น ๆ ในแผนกขณะกำลังประชุมเกี่ยวกับงานของจำเลย โดยโจทก์มิได้เคารพยำเกรงต่อที่ประชุมและผู้บังคับบัญชารวมทั้งมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุห้ามไว้แต่อย่างใด ลักษณะการกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือเป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 39(1), 44(3) รวมทั้งไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share