แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นาย อ. ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไปปฏิบัติราชการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ออกประกาศใช้ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ในฐานะ อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่า การกระทรวงยุติธรรมให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2521 มาตรา 21 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น อ. จึงมีอำนาจออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ได้ เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกาและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชอบแล้ว ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้
แม้ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จะเป็นตัวแทนซึ่งได้รับมอบหมายอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับกิจการในสำนักงานสาขาชลบุรีของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ก็ไม่ถูกจำกัดอำนาจในการ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีสำหรับคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่สาขาชลบุรีของโจทก์มิใช่เป็นการมอบอำนาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 โจทก์จึงไม่จำต้องกล่าวในหนังสือมอบอำนาจโดยระบุชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องมาด้วย และการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีดังกล่าวย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ว่าคดีนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจ ดังนั้น แม้หนังสือมอบอำนาจจะมิได้ระบุชื่อจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นผู้จะต้องถูกฟ้องก็ดี ขณะโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำสัญญาทรัสตรีซีทกับโจทก์และข้อพิพาทคดีนี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจก็ดี ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ ป. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้องจึงมีอำนาจแต่งตั้ง น. ทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้
ตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเงินไทยเท่าใดในวันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระมาโดยชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็ได้แนบสำเนาใบแจ้งการครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโดยเอกสารดังกล่าวได้ระบุถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยที่ 1 สามารถตรวจดูเพื่อต่อสู้คดีให้ถูกต้องได้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 6 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๘๓,๕๖๘,๘๗๕.๗๖ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๑๓,๖๓๗,๙๐๖.๗๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๑ และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้ง
ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การในทำนองเดียวกัน
ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑ เพราะเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ชำระเงินค่าขึ้นศาลสำหรับฟ้องแย้ง และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม แต่ให้รับคำให้การจำเลยทั้งสี่พร้อมกับให้นัดสืบพยานโจทก์ก่อนโดยเห็นว่าคดีไม่จำต้องมีการชี้สองสถาน
ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายปานศักดิ์ รัตนภาสกร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ต่อศาลแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาลตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ข้อ ๒๙ และในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ได้นำผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความยืนยันบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นดังกล่าวและให้ทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้าน แต่ทนายจำเลยทั้งสี่แถลงคัดค้านว่าโจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ดังกล่าวแทนการซักถามพยานไม่ได้เพราะข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทนายจำเลยทั้งสี่จึงไม่ขอถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ติดใจถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์ แล้วทนายโจทก์แถลงหมดพยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงให้นัดสืบพยานจำเลยทั้งสี่ ในวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสี่ทนายจำเลยทั้งสี่แถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คำพิพากษาและอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาตให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำบันทึกข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์แทนการซักถามพยานของทนายโจทก์ และที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ติดใจถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรยกปัญหาตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสี่ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาตให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาลตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ข้อ ๒๙ นั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า โจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานแทนการซักถามพยานไม่ได้ เพราะข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ออกโดยมีนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ เป็นผู้ลงลายมือชื่อมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มิใช่เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตัวจริง นายอัครวิทย์จะออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ในขณะที่มิได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาไม่ได้ ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบ ไม่มีผลใช้บังคับ เห็นว่า ในตอนท้ายข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุตำแหน่งของ นายอัครวิทย์ไว้ว่า “ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาช่วยทำงานในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง” ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงฟังได้ว่าที่นายอัครวิทย์ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลฎีกาไปปฏิบัติราชการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และออกประกาศใช้ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เป็นเพราะนายอัครวิทย์ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรมให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งดังกล่าวซึ่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่นายอัครวิทย์ดำรงอยู่ อันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรมจะมีคำสั่งเช่นนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๒๑ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อนายอัครวิทย์ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไปช่วยทำงาน ชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย นายอัครวิทย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิบัติราชการในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศกลางตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น นายอัครวิทย์จึงมีอำนาจที่จะออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ เมื่อปรากฏว่าข้อกำหนดดังกล่าวได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกาและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชอบแล้ว ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาตามข้อกำหนดดังกล่าวในข้อ ๒๙ โดยอนุญาตให้โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ต่อศาลแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาลจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาศาลเพื่อเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสี่ แต่ทนายจำเลยทั้งสี่กลับไม่ยอมถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงเป็นความผิดของทนาย จำเลยทั้งสี่เอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยถือว่าทนายจำเลยทั้งสี่ไม่ติดใจถามค้านผู้รับมอบอำนาจโจทก์นั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นเดียวกัน ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการสืบพยานคู่ความเสียใหม่ตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์และศาลย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ รวมทั้งเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๕๐ ที่โจทก์ยื่นต่อศาลเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกว่า นายปานศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้โดยชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์โดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๒ อันเป็นการตั้งตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๑ ให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ดำเนินคดีแทนโจทก์ แต่หนังสือมอบอำนาจหรือหนังสือตั้งตัวแทนดังกล่าวมิได้ระบุว่าให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ และขณะที่โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๕ โจทก์ยังไม่มีนิติสัมพันธ์ในลักษณะสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องกับจำเลยที่ ๑ รวมทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสี่ยังมิได้มีข้อพิพาทต่อกัน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ก่อให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่จึงมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาในคำให้การก็ตาม ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศได้ตรวจดูหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๒ แล้ว ปรากฏว่า ตามหนังสือมอบอำนาจ ดังกล่าวโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายปานศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาชลบุรีของโจทก์มีอำนาจที่จะดำเนินกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นกิจการของสาขาชลบุรีของโจทก์อาทิเช่น การกระทำอันเป็นปกติธุรกิจของโจทก์ รับจำนอง ปลดจำนอง รับจำนำ รับค้ำประกัน ทำสัญญากับบุคคลอื่นในธุรกิจของโจทก์ เรียกร้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน รวมทั้งดำเนินคดีทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีล้มละลายในศาล เป็นต้น เห็นว่า แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปเกี่ยวกับกิจการในสำนักงานสาขาชลบุรีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๑ วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ แต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา ๘๐๑ วรรคสอง (๕) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฟ้องคดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีสำหรับคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่สาขาชลบุรีของโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจแต่เฉพาะการตามมาตรา ๘๐๐ โจทก์จึงไม่จำต้องกล่าวในหนังสือมอบอำนาจโดยระบุชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องมาด้วย และการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีดังกล่าวย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาชลบุรีของโจทก์ ไม่ว่าคดีนี้จะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย ดังนั้น แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๒ จะมิได้ระบุชื่อจำเลยทั้งสี่ว่าเป็นผู้ที่จะต้องถูกฟ้องก็ดี ขณะโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจจำเลยที่ ๑ ยังมิได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์และข้อพิพาทคดีนี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจก็ดี ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ นายปานศักดิ์ผู้รับ มอบอำนาจโจทก์ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะยื่นฟ้องจึงอำนาจแต่งตั้งนายมานพ รัตติธรรม ทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้โดยชอบ
ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ ๑ เท่านั้นที่ให้การต่อสู้คดีไว้ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ หาได้ให้การต่อสู้คดีไว้ไม่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้เพราะถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้มาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกับจำเลยที่ ๑ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น และเห็นว่าแม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะยังมิได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ แต่เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศแล้ว เพื่อมิให้คดี ล่าช้าจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเงินไทยจำนวนเท่าใด ณ วันที่หนี้ตามสัญญา ทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ จึงทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่ทราบจำนวนหนี้เงินไทยที่โจทก์ฟ้องว่าถูกต้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเงินไทยเท่าใดในวันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระมาโดยชัดแจ้งดังที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ แต่โจทก์ก็ได้แนบสำเนาใบแจ้งการครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับและแนบสำเนาบัญชีแสดงยอดหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโดยเอกสารดังกล่าวได้ระบุถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้แต่ละจำนวนไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยที่ ๑ สามารถตรวจดูเพื่อต่อสู้คดีให้ถูกต้องได้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๐ ข้อ ๖ วรรคหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึง ไม่เคลือบคลุม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีท