คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1084/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการดึง ตัวผู้เสียหายให้ลงมาจากรถโดยสารประจำทาง แม้จำเลยจะบังคับเอาทรัพย์จากผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายลงมาจากรถ และจำเลยยืนอยู่นอกรถก็ตาม แต่การชิง ทรัพย์นั้นได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายในขณะที่ผู้เสียหายยังอยู่บนรถ ซึ่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดตอนกรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิง ทรัพย์ในยวดยานสาธารณะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ในยวดยานสาธารณะ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคแรก ให้จำคุก 6 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปีให้จำเลยคืนเงิน 40 บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ในยวดยานสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง หรือไม่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยมิได้อยู่บนรถโดยสารประจำทางแต่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายดึงตัวผู้เสียหายให้ลงมาจากรถ แล้วจำเลยบังคับล้วงกระเป๋ากางเกงเอาเงินไปและขู่เข็ญบังคับให้ผู้เสียหายขึ้นไปเก็บเงินจากผู้โดยสารบนรถมาให้อีก โดยจำเลยมิได้เข้าไปกระทำในรถโดยสารประจำทางนั้น พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” และมาตรา 335 (9) บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์…(9)…ในยวดยานสาธารณะ…” เห็นว่า มาตรา 339วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษผู้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หนักขึ้นหากการชิงทรัพย์นั้นเข้าลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335ซึ่งความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น การใช้กำลังประทุษร้ายเป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้นการที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการดึงตัวผู้เสียหายให้ลงมาจากรถ แม้จำเลยจะบังคับเอาทรัพย์จากผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายลงมาจากรถและจำเลยยื่นอยู่นอกรถก็ตาม แต่การชิงทรัพย์นั้นได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายในขณะที่ผู้เสียหายยังอยู่บนรถซึ่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ในยวดยานสาธารณะดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตาม มาตรา 339 วรรคสอง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกา โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤจิกายน 2514 ข้อ 14 ให้จำคุก 10 ปีเมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 6 ปี 8 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share