คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนมาติดต่อตกลงเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนได้ทำบันทึกชดใช้ค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ ซึ่งเป็นการทำการภายในขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ โดยโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนได้กระทำไปโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทน จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคสอง แม้ศาลจะให้รับฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา ก็ไม่มีทางที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกดั๊มหมายเลขทะเบียนล.ป. 01672 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2520 เวลากลางคืน นายมานิตย์หรือนิด หรือนิต สุรกิจ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ว. 04066 ของจำเลยที่ 1 แล่นไปตามถนนสายเอเชียจากจังหวัดตากมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครสวรรค์ด้วยความเร็วสูงด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์คันดังกล่าวซึ่งขับโดยนายสมศักดิ์ บุญสวัสดิ์ ลูกจ้างของโจทก์และจอดซ่อมเครื่องยนต์อยู่ข้างทางด้านซ้ายของถนน ได้รับความเสียหาย คิเป็นเงิน 29,154 บาท หลังเกิดเหตุแล้วในวันที่ 12 มกราคม2520 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนมาติดต่อตกลงเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนได้ทำบันทึกชดใชค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์กับนายสิงห์ดำ ทองกันทา พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ตกลงเอารถยนต์ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนตามที่คณะกรรมการได้บันทึก ซึ่งเป็นการทำการภายในอำนาจที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ หลังจากทำบันทึกดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองมิได้ทำการซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์แต่อย่างใดขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันนำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ล.ป. 01672 ของโจทก์ไปทำการซ่อมแซมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ถ้าไม่ยอมก็ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 29,154 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25มกราคม 2520 จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 31,508.09 บาท และให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 29,154 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าจำเลยที่ 2เป็นตัวแทนทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ขอให้รับฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 มีหนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 2 กระทำแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า หลังจากฟ้องแล้วจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การว่ามิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนทำสัญญาตกลงใช้ค่าเสียหายกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำโดยไม่มีอำนาจ ศาลควรรับฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาเพื่อให้โอกาสโจทก์และจำเลยทั้งสองพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ หากศาลด่วนวินิจฉัยว่าตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 805, 807, 812, 823 ก็นำมาใช้บังคับแก่ตัวแทนและตัวการไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนมาติดต่อตกลงเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนได้ทำบันทึกชดใช้ค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทกื ซึ่งเป็นการทำการภายในขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ โดยโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนได้กระทำการไปโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทนจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 วรรคสอง แม้ศาลจะให้รับฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา ก็ไม่มีทางที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห้นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share