คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บริษัทจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์แท็กซี่ออกแล่นรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 3 โดยเปิดเผยและเป็นที่เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้ใช้ตราบริษัทจำเลยที่ 3 ติดอยู่ที่ข้างรถดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างนั้นในกิจการของจำเลยที่ 3 เองการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการเชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่ได้รับความเสียหายจากผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 เสมือนจำเลยที่1 เป็นตัวแทนของตน.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่และจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนกันเป็นเหตุให้รถยนต์แท็กซี่กระเด็นไปชนประตูห้างโจทก์เสียหายเป็นเงิน 41,500 บาท สินค้าภายในห้างเสียหายคิดเป็นเงิน 43,250 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวและเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 3 ออกเป็นนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่เคยยินยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตนเป็นนายจ้าง จำเลยที่3 กระทำกิจการให้เช่ารถยนต์แท็กซี่อย่างทรัพย์สินที่เช่ากันทั่วไปเท่านั้น จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ควบคุมคงได้แต่ค่าเช่าเป็นรายวัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน84,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุธรณ์คนละ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุคดีนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1 ท – 8703 ซึ่งมีตราบริษัทจำเลยที่ 3 ปรากฏอยู่ที่ข้างรถ ขับรถออกจากข้างถนนด้านซ้ายเปลี่ยนช่องทางเดินรถมาทางขวาตัดหน้ารถยนต์ซูบารุซึ่งจำเลยที่ 2 ขับมาด้วยความเร็วสูงและเมาสุราจึงเกิดชนกันขึ้นการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการขับรถด้วยความประมาททั้งสองฝ่าย หลังชนกันแล้วรถยนต์ซูบารุเบนไปชนเกาะกลางถนนยางหน้าแตกทั้งสองข้าง ส่วนรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 1 ขับกระเด็นไปทางซ้ายขึ้นไปบนทางเท้าริมถนนพุ่งเข้าชนประตูห้างโจทก์ทำให้ประตูและสินค้าภายในห้างของโจทก์เสียหายคิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 84,750 บาท จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจกรรมขนส่งทางบกและเดินรถยนต์รับจ้างโดยสารใช้รถยนต์สี่ล้อไม่เกิน 7 คน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า’……เมื่อจำเลยที่ 3 ยอมให้มีการนำรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุออกแล่นรับคนโดยสารในนามของบริษัทจำเลยที่ 3 โดยเปิดเผยและเป็นที่เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้ใช้ตราบริษัทจำเลยที่ 3 ติดอยู่ที่ข้างรถเพราะคงจะไม่มีบริษัทใดยอมให้นำตราของบริษัทไปใช้ในกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทได้ตามชอบใจบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์รับจ้างโดยสารในกิจการของจำเลยที่ 3 เอง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้

Share