แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้ละเมิดที่ ช. ลูกหนี้ก่อขึ้น เมื่อมูลหนี้ละเมิดนั้นเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย จึงต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้นำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ มิใช่ถืออายุความ1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2519 นายเชวงวัฒนสิทธิโชค ได้สมัครเข้าทำงานกับธนาคารโจทก์ โดย จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายกับโจทก์ ระหว่างวันที่ 26 ถึง 28มิถุนายน 2522 โจทก์ได้ตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีพบว่า นายเชวงได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ปฏิบัติงานโดย เจตนาทุจริตกระทำการปลอมแปลงและใช้เอกสารปลอม ทำหลักฐานอันเป็นเท็จรับฝากเงินของลูกค้าธนาคาร ทำให้ธนาคารโจทก์สาขาบ้านโป่งได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,248,842 บาท ขอบังคับให้จำเลยชดใช้เงินคืนหรือใช้เงินแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความเพราะพ้นหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องว่า โจทก์ได้ตรวจพบการกระทำผิดของนายเชวงระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2522 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้อง วันที่10 พฤศจิกายน 2530 เป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายมาในฟ้องด้วยว่า นายเชวงได้กระทำผิดอาญาโดย ปลอมใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกงโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 2,247,842 บาท ซึ่งโจทก์ได้ร้องทุกข์ไว้แล้วที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่28 มิถุนายน 2522 ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้ละเมิดที่นายเชวงก่อขึ้น และมูลหนี้ละเมิดนั้นเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้นำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ หาใช่ถืออายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดไม่ สำหรับอายุความทางอาญานั้น หากนายเชวงกระทำผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกงจริง อายุความทางอาญาจะมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี