แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 120,000 บาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้แล้วต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ ขณะที่จำเลยเขียนสัญญากู้เงินและลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญานั้น ไม่มีบุคคลอื่นลงชื่อเป็นพยานในสัญญา โดยพยานดังกล่าวได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินในภายหลัง ก็ไม่มีผลทำให้หนังสือสัญญากู้เงินเสื่อมเสียไป เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือนั้นจะต้องมีลายมือชื่อของพยานด้วย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 มกราคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 120,000 บาท ในปี 2529 โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ แล้วต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้ สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางสัญญานายหน้าแต่อย่างใด และแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า ขณะที่จำเลยเขียนสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และลงชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญานั้นไม่มีบุคคลอื่นลงชื่อเป็นพยานในสัญญา โดยพยานดังกล่าวได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินในภายหลังก็ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่มีผลทำให้สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เสื่อมเสียไปแต่อย่างใด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือนั้นจะต้องมีลายมือชื่อของพยานด้วยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน