คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าคดีโจทก์จะฎีกาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา ดังนี้เมื่อ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17) ใช้บังคับแล้วและคดีของโจทก์ต้องห้ามฎีกา ตามมาตรา 220 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362,365, 336, 83, 90 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2532หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ใช้บังคับแล้ว การพิจารณาว่าโจทก์จะฎีกาได้หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงฎีกาไม่ได้แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13”
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share