คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำเตือนให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้างนั้น คำเตือนดังกล่าวเป็นการชี้ แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำฟ้องคำเตือนของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้างของโจทก์
จำเลยให้การว่า คำเตือนที่จำเลยมีถึงโจทก์ให้จ่ายเงินค่าชดเชยมิได้เป็นข้อวินิจฉัยชี้ขาดและไม่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน ได้ทำการสอบสวนตามที่นายจรัสศิลป์ ทรัพย์มหาศาลร้องเรียนว่าถูกโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไล่ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยผลการสอบสวนของจำเลยทั้งสองเห็นว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงออกคำเตือนแก่โจทก์โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศดังกล่าว ให้โจทก์ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนนั้นคำเตือนจึงมีลักษณะเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการคุ้มครองแรงงานของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่มีการเลิกจ้างถ้านายจ้างเห็นว่าคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามคำเตือน จึงไม่เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองให้คำเตือนแก่โจทก์ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share