คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3955/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเนื่องจากผู้ตายกับ น. ภริยาจำเลยอยู่ด้วยกันภายในห้องนอนตามลำพังสองต่อสอง และจำเลยพบเห็นเหตุการณ์โดยไม่คาดคิดมาก่อนจำเลยเกิดความโมโหหรือมีอารมณ์โกรธ จึงยิงไปในขณะนั้นทันทีที่พบเห็น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 แต่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 33, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทิว และริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ จำคุก 11 ปี และฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 12 ปี คำให้การของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี ริบหัวกระสุนปืนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะจำคุก 5 ปี รวมกับโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 1 ปี เป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง จำเลยเป็นสามีนางนงลักษณ์โดยจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ล.1 มีบุตรด้วยกัน 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.5 อาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านในตลาดเขาศก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี นางนงลักษณ์เปิดร้านอาหารชื่อร้านอาหารนงลักษณ์ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา ผู้ตาย พลตำรวจสันติและสิบตำรวจตรีเสรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ไปรับประทานอาหารและดื่มสุราด้วยกันในร้านอาหารนงลักษณ์ที่เกิดเหตุ แต่พลตำรวจสันติและสิบตำรวจตรีเสรีกลับไปก่อนตอนเวลาประมาณ 15 นาฬิกา และ 18 นาฬิกา ตามลำดับ ส่วนผู้ตายคงอยู่ที่ร้านต่อโดยนั่งพูดคุยอยู่กับนางนงลักษณ์เจ้าของร้านจนกระทั่งเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ร้านปิดแต่ผู้ตายยังคงอยู่ที่ร้านต่อ ครั้นต่อมาเวลาประมาณ 6 นาฬิกา ของวันที่ 30 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ จำเลยขับรถยนต์กระบะมาที่ร้านอาหารนงลักษณ์ที่เกิดเหตุ ขณะนั้นผู้ตายกับนางนงลักษณ์อยู่ด้วยกันสองต่อสองในห้องนอนบนชั้นสองของร้าน จำเลยใช้อาวุธปืนสั้นยี่ห้อรีวอลเวอร์ ขนาด .32 หมายเลขทะเบียน กท.967967 ที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยิงผู้ตายจำนวน 4 นัด โดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกผู้ตายตามร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง และรายงานการตรวจศพเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) โดยผู้ตายถึงแก่ความตายอยู่ในห้องนอนบนชั้นสองของร้านอาหารนงลักษณ์ที่เกิดเหตุ เมื่อยิงผู้ตายแล้วจำเลยพานางนงลักษณ์ออกจากร้านไปขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยที่จอดอยู่ขับหลบหนีไปต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพ้นตำรวจโทสถิตย์ (ขณะเกิดเหตุมียศพันตำรวจตรี) สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ตามบันทึกการมอบตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.2 สำหรับข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืน จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืน โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันข้อหาความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยเบิกความอ้างว่าเมื่อจำเลยขึ้นไปบนชั้นสองพบนางสาวศิริรัตน์และนางสาวธัญลักษณ์พนักงานเสิร์ฟนอนอยู่ในมุ้งนอกห้องจึงสอบถามว่านางนงลักษณ์อยู่ที่ไหน ทั้งสองคนไม่ตอบและวิ่งลงไปชั้นล่าง จำเลยตามลงมาและเห็นรองเท้าหุ้มข้ออยู่ที่พื้นชั้นล่างจำเลยคิดว่ามีเหตุร้ายภายในร้านจึงไปหยิบอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .32 ที่หลังตู้ภายในร้านมาถือไว้แล้วขึ้นไปบนชั้นสอง ปรากฏว่าประตูห้องปิด จึงเคาะประตูพร้อมตะโกนเรียกให้เปิดประตู ครู่หนึ่งมีเสียงเปิดประตูจำเลยจึงรีบกระชากประตูห้องเปิดออกขณะเดียวกันได้ยินเสียงคล้ายคนกระชากลูกเลื่อนอาวุธปืน ซึ่งจำเลยคาดว่าคนที่อยู่ข้างในต้องมีอาวุธปืน เมื่อเปิดประตูแล้วพบนางนงลักษณ์ยืนอยู่และมีชายคนหนึ่งซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นผู้ตายยืนอยู่ด้านหลังนางนงลักษณ์ ถืออาวุธปืนยาวจ้องเล็งมาทางจำเลย จำเลยเชื่อว่าผู้ตายเป็นคนร้ายจึงผลักนางนงลักษณ์ไปทางด้านหลังให้ชนผู้ตาย จนผู้ตายเสียหลักเอียงไปทางด้านหลัง แต่ผู้ตายยังถืออาวุธปืนและหันปากกระบอกมาทางจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหลายนัดซึ่งทราบภายหลังว่ายิงไป 4 นัด แล้วจำเลยดึงนางนงลักษณ์ออกจากห้องไป ส่วนผู้ตายล้มลงตรงบริเวณประตูห้องและเบิกความต่อไปว่า เหตุที่จำเลยยิงผู้ตายเพราะผู้ตายจ้องเล็งอาวุธปืนมาทางจำเลย คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้หรือไม่ เห็นว่า เกี่ยวกับเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย พันตำรวจโทปรีชาพนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 เมื่อจำเลยเข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโทสถิตย์ พยานรับตัวจำเลยมาทำการสอบสวนโดยแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยให้การภาคเสธ โดยจำเลยรับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง แต่กระทำไปเพราะเหตุบันดาลโทสะ พยานบันทึกคำให้การของจำเลยไว้ ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ป.จ.10 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) และให้จำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การและถ่ายรูปการนำชี้ไว้ตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ป.จ.11 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) และภาพถ่ายหมาย ป.จ.12 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) ปรากฏว่า ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย ป.จ.10 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) ดังกล่าว จำเลยให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายมีรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญว่าจำเลยเคาะประตูห้องหลายครั้งแต่นางนงลักษณ์ไม่ยอมเปิด จำเลยจึงดันประตูและจะพังประตูเข้าไปนางนงลักษณ์จึงเปิดประตู เมื่อประตูเปิดอ้าออกจำเลยเห็นนางนงลักษณ์ยืนอยู่ในห้องข้างประตูด้านขวาและเห็นชอบคนหนึ่งทราบภายหลังว่าเป็นผู้ตายอยู่ในห้องริมด้านซ้าย ขณะนั้นจำเลยเห็นนางนงลักษณ์และผู้ตายไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากภายในห้องไม่ได้เปิดไฟฟ้าและยังไม่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ แต่พอมองเห็นกันได้ จำเลยเห็นผู้ตายอยู่ในลักษณะท่านั่งและทำท่าเหมือนจะคว้าสิ่งของที่อยู่ทางด้านซ้ายมือซึ่งจำเลยไม่ทราบว่าเป็นสิ่งของอะไรและกำลังจะลุกขึ้นมาหาจำเลย ขณะนั้นจำเลยอยู่ในอาการตกใจและโมโหมากไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะพบกับเหตุการณ์เช่นนี้ จำเลยจึงชักอาวุธปืนสั้นออกมาจากเอวและยิงใส่ผู้ตายจนหมดกระสุนปืน ไม่ทราบว่ากี่นัดผู้ตายล้มลงบริเวณหน้าห้อง จากนั้นจำเลยกระชากนางนงลักษณ์ลงมาชั้นล่างแล้วพาขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยขับหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ และให้การต่อไปด้วยว่าเหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายขณะที่พบเห็นนั้น เนื่องจากผู้ตายอยู่กับนางนงลักษณ์ภริยาจำเลยภายในห้องนอนตามลำพังสองต่อสอง แม้ขณะที่เห็นผู้ตายและนางนงลักษณ์จะไม่อยู่ในลักษณะเปลือยกายหรือกำลังร่วมประเวณีกันก็ตาม แต่หญิงชายอยู่กันตามลำพังในลักษณะเช่นนี้ จำเลยเชื่อว่าผู้ตายและนางนงลักษณ์จะต้องร่วมประเวณีกันอย่างแน่นอน จำเลยเกิดความโมโหและบันดาลโทสะอย่างรุนแรง จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันทีขณะที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 จำเลยให้การเพิ่มเติมอีกว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายกับจำเลยไม่ได้พูดกันและไม่มีการต่อสู้ทำร้ายกันก่อนเกิดเหตุ ซึ่งเกี่ยวกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย เอกสารหมาย ป.จ.10 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) ดังกล่าวมานี้ จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าพนักงานสอบสวนทำบันทึกไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามที่จำเลยได้ให้การแต่อย่างใด ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำลยดังกล่าว เห็นได้ว่า จำเลยไม่ได้ให้การถึงเลยว่า เมื่อนางนงลักษณ์เปิดประตูห้องจำเลยได้ยินเสียงคล้ายคนกระชากลูกเลื่อนอาวุธปืนและผู้ตายถืออาวุธปืนยาวจ้องเล็งปากกระบอกปืนมาทางจำเลย จำเลยจึงยิงผู้ตายไปดังที่จำเลยเบิกความกล่าวอ้างในชั้นพิจารณา ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์อันสำคัญแก่รูปคดีของจำเลยด้วย จึงไม่น่าจะไม่ให้การถึงเสียแต่แรก การที่จำเลยเพิ่งมาเบิกความกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาดังกล่าวมาข้างต้นนั้น จึงเป็นการเบิกความเพิ่มเติมจากที่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนทำให้คำเบิกความของจำเลยมีพิรุธ นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทสถิตย์พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบตัวจำเลยว่า เมื่อรับมอบตัวจำเลยได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยให้การรับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริงแต่มีเหตุจำเป็น และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าจากการพูดคุยและสอบถาม จำเลยให้การสรุปได้ว่า ผู้ชายด้วยกันในสภาพอย่างนี้คงทนไม่ได้ด้วยเหตุดังวินิจฉัย จึงไม่เชื่อว่าข้อความที่จำเลยเบิกความในชั้นพิจารณาซึ่งเป็นการเบิกความเพิ่มเติมจากที่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนจะเป็นความจริง กรณีจึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายกับนางนงลักษณ์ภริยาจำเลยอยู่ด้วยกันภายในห้องนอนตามลำพังสองต่อสอง และจำเลยพบเห็นเหตุการณ์โดยไม่คาดคิดมาก่อน จำเลยเกิดความโมโหหรือมีอารมณ์โกรธจึงยิงไปในขณะนั้นทันทีที่พบเห็น หาใช่ผู้ตายถืออาวุธปืนยาวจ้องเล็งปากกระบอกปืนมาทางจำเลย จำเลยจึงยิงไปดังที่จำเลยเบิกความอ้างในชั้นพิจารณา เช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ส่วนข้อที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า ภายในห้องนอนพอมองเห็นกันได้จำเลยเห็นผู้ตายอยู่ในลักษณะท่านั่งและทำท่าเหมือนจะคว้าสิ่งของที่อยู่ทางด้านซ้ายมือซึ่งจำเลยไม่ทราบว่าเป็นสิ่งของอะไรและกำลังจะลุกขึ้นมาหาจำเลย จำเลยจึงยิงผู้ตายนั้น เห็นว่า ตามทางพิจารณาแม้จะได้ความว่าภายในห้องนอนที่ผู้ตายกับนางนงลักษณ์อยู่ด้วยกันในขณะเกิดเหตุมีอาวุธปืนประจำกายของผู้ตายซึ่งเป็นอาวุธปืน เอช.เค บรรจุกระสุนปืนหลายนัดวางอยู่บนพื้นห้อง แต่ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าผู้ตายทำท่าจะหยิบอาวุธปืนที่วางอยู่ดังกล่าวเพื่อยิงจำเลยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลยแล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายไปในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงไม่หนักแน่นพอที่จะฟังว่าเป็นการป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 เช่นเดียวกัน ข้ออ้างประการอื่นๆ ในฎีกาของจำเลยที่เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 แต่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามทางพิจารณาได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้ตายมีภริยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอยู่แล้ว และยังมีภริยาน้อยอีก 1 คน ซึ่งอยู่ด้วยกันที่บ้านพักที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเคยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายภริยาน้อย แสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่าผู้ตายความประพฤติไม่ดี มีความเสื่อมเสียเรื่องผู้หญิง ประกอบกับก่อนเกิดเหตุคดีนี้ผู้ตายไปที่ร้านอาหารนงลักษณ์ของนางนงลักษณ์ภริยาจำเลยที่เกิดเหตุเป็นประจำ โดยเฉพาะในครั้งที่เกิดเหตุคดีนี้ผู้ตายกับพวกไปรับประทานอาหารและดื่มสุราด้วยกันที่ร้านอาหารนงลักษณ์ที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลาประมาณ 12 นาฬิกา และพวกของผู้ตายต่างกลับไปหมดแล้วตั้งแต่เวลาประมาณ 15 นาฬิกาและ 18 นาฬิกา แต่ผู้ตายยังไม่กลับโดยอยู่คุยกับนางนงลักษณ์ภริยาจำเลยจนกระทั่งเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ร้านปิด แต่ผู้ตายก็ยังไม่กลับ ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนางสาวศิริรัตน์พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเสิร์ฟของร้านอาหารที่เกิดเหตุและจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวธัญลักษณ์พนักงานเสิร์ฟอีกคนหนึ่งตามเอกสารหมาย ป.จ.7 (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) ว่า ตอนเวลาประมาณ 5 นาฬิกาของวันเกิดเหตุ เห็นผู้ตายกับนางนงลักษณ์เข้าไปอยู่ด้วยกันภายในห้องนอนที่เกิดเหตุ และได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวธัญลักษณ์ด้วยว่าขณะผู้ตายกับนางนงลักษณ์อยู่ภายในห้องนอนนั้น ได้ยินเสียงผู้ตายพูดว่า “ดูซิอยากเห็นหน้าชัดๆ ว่าสวยขนาดไหน คุยกันมาทั้งคืนแล้ว” แล้วก็เงียบไป พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางว่าผู้ตายกับนางนงลักษณ์ไม่ใช่รู้จักคุ้นเคยกันอย่างธรราดา แต่หนักไปในทำนองรักใคร่ฉันชู้สาวถึงกับพากันขึ้นไปนอนด้วยกันภายในห้องนอนที่เกิดเหตุ ผู้ตายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้ดี ทั้งมีภริยาอยู่แล้วถึง 2 คน ก็ไม่พอ ยังมาติดพันนางนงลักษณ์ภริยาจำเลยในทำนองชู้สาวอีก เห็นได้ว่าผู้ตายประพฤติตัวไม่เหมาะสมไม่อยู่ในศีลธรรม ส่วนจำเลยนั้นมีอาชีพเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์และเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิศีลธรรมสมาคม อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ทำหน้าที่เก็บศพอันแสดงว่าจำเลยเป็นคนทำมาหากิน และยังมีส่วนช่วยเหลือสังคมด้านสาธารณกุศล ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ และยังชดใช้ค่าทำขวัญแก่บิดาผู้ตายเป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยมีบุตร 4 คน ซึ่งเมื่อนับถึงวันเกิดเหตุมีอายุเพียง 12 ปีเศษ 8 ปีเศษ 6 ปีเศษ และ 8 เดือนเศษ ตามสำเนาสูติบัตร เอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.5 ตามลำดับ ที่จำเลยต้องอุปการะเลี้ยงดู โดยบุตร 3 คน เป็นนักเรียนกำลังเรียนหนังสืออยู่ ดังปรากฏตามใบรับรองการเป็นนักเรียนเอกสารแนบท้ายฎีกาจำเลย ทั้งเหตุที่จำเลยกระทำความผิดก็เนื่องจากผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้น เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของผู้ตายดังกล่าวข้างต้นประกอบด้วยแล้ว มีเหตุอันควรปรานีแก่จำเลยโดยสมควรกำหนดโทษให้เบาลงและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำจึงเห็นสมควรลงโทษปรับในความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ อีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติจำเลยไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ จำคุก 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกแต่ละกระทงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อหนึ่งครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้นั้น กับให้จำเลยละเว้นการประพฤติอันใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดเช่นเดียวกันนี้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share