แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัท ธ. และขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ธ. ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ในกิจการเดิน รถยนต์โดยสารประจำทางดังนี้ ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนในการขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวในกิจการเดินรถร่วมบริการของจำเลยที่ 3ด้วย แม้โจทก์ได้กล่าวในฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 3 ก็เข้าใจข้อหาดี เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุชนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส เป็นการละเมิดต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ถูกกระทำละเมิดต้องได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 21 วัน ยังไม่หาย ต้องทนทุกขเวทนา ขาข้างขวาใช้การได้ไม่ปกติดังเดิม โจทก์ต้องเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเข้าแล่นในเส้นทางเดินรถประจำทางของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองดูแลรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวด้วย วันที่ 17 ธันวาคม 2526 เวลาประมาณ15 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนโจทก์ซึ่งกำลังเดินข้ามถนน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ค่าเสียหายทั้งสิ้น 260,215 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2และไม่ได้ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ได้ขับรถประมาทโจทก์ประมาทวิ่งข้ามถนนชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับเองสุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะป้องกัน โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริงโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมวิ่งด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างปฏิบัติการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 หรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 3 เหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียวค่าเสียหายไม่เกิน 20,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 177,715 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่ปรากฏในสำนวนเฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยที่ 3 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการเดินรถยนต์โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2526เวลาประมาณ 15 นาฬิกา โจทก์กำลังเดินข้ามถนนดินสอ จากฝั่งศาลาว่าการกรุงเทพมหานครไปฝั่งตรงข้าม จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-9055 กรุงเทพมหานคร(รถร่วมบริการสาย 10) จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าไปทางเสาชิงช้าชนโจทก์ขณะกำลังข้ามถนน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บปรากฏตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.2การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437…
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องจึงไม่ชอบ เพราะโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยอ้างว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน และโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และก็นำสืบไม่ได้อีกว่าจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องนั้น โจทก์มีเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทธนนครขนส่งจำกัด ได้ประกาศให้รางวัลนำจับจำเลยที่ 1 ซึ่งหลบหนีคดีอาญาฐานขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้ใดนำจับได้ ให้ไปรับรางวัลได้ที่บริษัทธนนครขนส่ง จำกัด และจำเลยที่ 2 ก็นำสืบรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุของบริษัทดังกล่าวซึ่งบริษัทดังกล่าวนำเข้ามาวิ่งร่วมบริการกับจำเลยที่ 3 เห็นว่าจากพยานหลักฐานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ในกิจการเดินรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 10 แต่มิใช่จำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3ดังที่โจทก์ฟ้อง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทธนนครขนส่งจำกัด เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ ก็ถือได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนในการขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวในกิจการเดินรถร่วมบริการของจำเลยที่ 3 ด้วย แม้โจทก์ได้กล่าวในฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ ก็ตามจำเลยที่ 3 ก็เข้าใจข้อหาดีจึงให้การต่อสู้ไว้ว่าจำเลยที่ 3ไม่ได้รับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุมาร่วมวิ่งด้วยคือ หมายถึงไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นการปฏิเสธความรับผิดไว้โดยสิ้นเชิงเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุชนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส เป็นการละเมิดต้องถือว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น เป็นการวินิจฉัยตามคำฟ้องและพยานหลักฐานในสำนวนโดยชอบ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องดังที่จำเลยที่ 3อ้างไม่… จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้มีพยานมาสืบให้เห็นว่าโจทก์ประมาทหรือมีส่วนประมาทอยู่ด้วยเลย จึงต้องฟังว่าเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว… และเรื่องกำหนดค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินให้แก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 อ้างว่าโจทก์ไม่ได้เสียบุคลิกภาพนั้น เห็นว่าโจทก์ถูกกระทำละเมิดต้องได้รับอันตรายแก่กายสาหัสต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 21 วัน แต่ก็ยังไม่หายต้องทนทุกขเวทนา ขาข้างขวาใช้การได้ไม่ปกติดังเดิม โจทก์ต้องเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446…”
พิพากษายืน.