คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1707/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การรับโอนโฉนดที่ดินสับสนกันมาช้านานด้วยความเข้าใจผิดจำเลยที่ 2 ครอบครองที่พิพาทตามโฉนดที่ 2924 ตลอดมา แต่จดทะเบียนการโอนในโฉนดที่ 2949 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดที่ 2946 แต่จดทะเบียนการโอนในโฉนดที่2924 หาได้เคยครอบครองที่พิพาทไม่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะขายที่ดินโฉนดที่ 2946 ที่ตนซื้อมาให้โจทก์และพาโจทก์ไปดูที่ดินดังกล่าวก่อนตกลงซื้อขายฉะนั้น ถึงแม้โจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในโฉนดที่ 2924 โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเพราะโจทก์ไม่มีเจตนาจะซื้อที่พิพาท

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองถือโฉนดสับกัน ที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ไม่ใช่ที่พิพาท การที่จำเลยที่ 1 เอาโฉนดที่ 2924 ไปโอนขายให้โจทก์ เป็นการโอนโดยผิดพลาด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่พิพาทมีเนื้อที่ 6 ไร่ 16 ตารางวา ตามโฉนดที่ 2924 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินโฉนดที่ 2946 (เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา) ให้โจทก์แต่โอนโฉนดที่ 2924 ให้โจทก์ผิดไป จริงหรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินแปลงเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา จากนายเต็มเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2511 โดยจดทะเบียนการโอนในโฉนดที่ 2924 ต่อมาวันที่ 15 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 1 ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ โดยจดทะเบียนการโอนในโฉนดที่ 2924 เช่นกัน จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินแปลงเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา ก่อนตกลงซื้อขาย ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยนายซับ และนายแม้นยกให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 จดทะเบียนการโอนในโฉนดที่ 2949 จำเลยที่ 2 ครอบครองทำกินในที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลากว่า 40 ปี และได้จดทะเบียนทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับที่พิพาทในโฉนดที่ 2949 อีกหลายครั้งโดยมีนายม้วน นายย่น สีทองสุข นายปลด เกษเกษร นายเต็ม และนางประธิต ทวีปัญญสกุล เบิกความสนับสนุน ส่วนโจทก์เบิกความว่า โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ 2924 ซึ่งเป็นโฉนดสำหรับที่พิพาท โดยโจทก์ซื้อที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ก่อนตกลงซื้อขายจำเลยที่ 1 พาโจทก์ ไปดูที่ดิน เห็นว่านอกจากโจทก์จะไม่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินแปลงใดแล้ว โจทก์ยังเบิกความเจือสมคำจำเลยทั้งสองว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินเมื่อเดือน 4 พ.ศ. 2521 ได้ไปดูที่ดินแปลงเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวาด้วยแต่ไม่ได้ทำการรังวัดเพราะเจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินแปลงที่โจทก์ซื้อ แสดงว่าโจทก์เองก็เข้าใจว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อ พยานหลักฐานจำเลยจึงดีกว่าโจทก์ ข้อเท็จจริงเชื่อว่า การรับโอนโฉนดที่ดินสับสนกันมาช้านานด้วยความเข้าใจผิด แต่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่พิพาทโดยถูกต้องตลอดมา จำเลยที่ 1 หาได้เคยครอบครองที่พิพาทไม่ และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะขายที่ดินแปลงเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวาที่ตนซื้อจากนายเต็มให้โจทก์ และได้พาโจทก์ไปดูที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนตกลงซื้อขาย ฉะนั้นถึงแม้โจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในโฉนดที่ 2924 ซึ่งเป็นโฉนดสำหรับที่พิพาทโจทก์ก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ในพิพาท เพราะโจทก์ไม่มีเจตนาจะซื้อที่พิพาท”

พิพากษายืน

Share