คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3938/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาบัญชีเดินสะพัดอาจมีข้อตกลงระหว่างลูกค้ากับธนาคารให้บุคคลอื่นนอกจากเจ้าของบัญชีเงินฝากมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้เมื่อเช็คถูกต้องตามเงื่อนไขและเงินฝากในบัญชีมีเพียงพอ ธนาคารก็ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงเช็ค และกรณีเช่นนี้แม้บุคคลอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายเงินก็ตาม ย่อมผูกพันลูกค้าผู้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดต้องร่วมรับผิดต่อธนาคาร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ที่สาขาโกสุมพิสัยและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม และเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสี่นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีโดยออกเช็คสั่งจ่ายเบิกเงินและรับเงินไปจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง เมื่อครบกำหนดชำระเงินคืนจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนอง จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับสามีถูกพนักงานของโจทก์หลอกลวงให้ทำสัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยเบิกเงินตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่องอะไรเลยเพียงแต่จำเลยที่ 1 ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ของจำเลยที่ 2 ไปเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างก็ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน630,354.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเบื้องแรกรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 300,000 บาท ไว้ต่อโจทก์ และจำเลยทั้งสี่ได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1 และสามีถูกธนาคารโจทก์หลอกลวงให้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 มิได้เบิกเงินจากบัญชีเลยโดยที่จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งโจทก์ฎีกาว่าโจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวัน มีรายละเอียดปรากฏตามรายการบัญชี เอกสารหมาย จ.49ศาลฎีกาได้ตรวจดูพยานหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่า ในชั้นขอเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.1ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.25 มอบอำนาจ ให้นายบุญมา ไชยคามสามีจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ได้ ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยที่ 1 ยังได้ให้ลายมือชื่อตัวอย่างของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินตามเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ไว้แก่ธนาคารโจทก์ ได้แก่ตัวจำเลยที่ 1 เองและนายบุญมาสามีจำเลยที่ 1ปรากฏตามลายมือชื่อตัวอย่าง เอกสารหมาย จ.26 แสดงให้เห็นว่านายบุญมามีอำนาจออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1ได้ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบพยานหลักฐานต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1ไม่เคยมอบอำนาจให้นายบุญมาออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ก็ดี หรือใบมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.25 จำเลยที่ 1 ลงชื่อโดยยังไม่กรอกข้อความก็ดี ก็ปรากฏว่าข้อความตามแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวกล่าวถึงการมอบอำนาจให้สั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันได้อย่างแจ้งชัด ส่วนรายละเอียดที่จะพิมพ์กรอกข้อความในแบบพิมพ์ต่อไปคงกล่าวถึงชื่อเจ้าของบัญชีหมายเลขบัญชีวงเงินที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและชื่อผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น จึงไม่น่าเชื่อว่า เป็นใบมอบอำนาจปลอม และอย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีกระแสรายวันนั้นมิได้เจาะจงว่าจะเป็นตัวเจ้าของบัญชีกระแสรายวันเสมอไป หากขึ้นอยู่กับว่าได้มีข้อตกลงระหว่างผู้ฝากเงินซึ่งเป็นลูกค้ากับธนาคารผู้รับฝากเงินว่ามีเงื่อนไขในการจ่ายเงินเช่นระบุตัวผู้มีอำนาจสั่งจ่ายนอกจากตัวเจ้าของบัญชีหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้เมื่อเงื่อนไขการจ่ายเงินระบุตัวนายบุญมาเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินไว้ด้วยจึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงนี้ และมีผลว่านายบุญมามีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้
ส่วนปัญหาที่ว่า การออกเช็คสั่งจ่ายเงินของนายบุญมาตามเช็คเอกสารหมาย จ.27 ถึง จ.38 จะผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่และธนาคารโจทก์มีสิทธิหักจำนวนเงินตามที่สั่งจ่ายเช็คออกจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่านายบุญมามีอำนาจออกเช็คสั่งจ่ายเงินได้ตามเงื่อนไขการสั่งจ่ายซึ่งในกรณีนี้โจทก์ฎีกาว่าต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปแล้วนั้น เห็นว่า ตามรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.49 มีรายละเอียดแสดงการสะพัดทางบัญชีของจำเลยที่ 1 ตลอดมา มีทั้งการออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีและการนำเงินฝากเข้าบัญชี จำนวนเช็คที่สั่งจ่ายเงินโดยนายบุญมามีจำนวนทั้งหมด 12 ฉบับ ตามเอกสารหมายจ.27 ถึง จ.38 ส่วนรายการนำเงินฝากเข้าบัญชี ปรากฏตามใบรับฝากเงินกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.39 ถึง จ.48 เป็นข้อสนับสนุนว่าการลงรายการบัญชีเป็นไปอย่างถูกต้องและตรงกับข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าได้ปฏิบัติไปตามระเบียบและแบบแผนของกิจการของธนาคารตามปกติ ดังนั้น เมื่อหลักฐานการจ่ายเงินอันได้แก่เช็คถูกต้องตามเงื่อนไข และมีเงินฝากในบัญชีเพียงพอกับจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คแล้วธนาคารโจทก์ก็ต้องจ่ายให้แก่ผู้ทรง ดังที่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของธนาคารโจทก์ได้ลงชื่ออนุมัติไว้ที่หน้าเช็คเมื่อเช็คได้นำมายื่นเรียกเก็บเงินแล้วทุกฉบับ เช็คทั้ง 12 ฉบับดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ธนาคารโจทก์มีสิทธิหักเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คออกจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้ ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีว่า ไม่เคยได้รับเงินตามเช็คจึงขัดกับข้อเท็จจริงในคดี ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 และนายบุญมาอ้างว่าถูกหลอกลวงให้ออกเช็คนั้น ก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และสามีดำเนินกิจการมีโรงงานทำอิฐและที่ต้องมีเงินทุนให้หมุนเวียน น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และสามีซึ่งทำธุรกิจในด้านนี้ตระหนักดีว่าการเปิดบัญชีกระแสรายวันและการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีข้อได้ข้อเสีย หรือมีหน้าที่อย่างไร โดยเฉพาะนายบุญมาเบิกความยืนยันว่า เมื่อลงชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คแล้วก็ต้องรับผิดข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่น่ารับฟัง ส่วนการรับเงินตามเช็คนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับเป็นตัวเงินหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากอื่น ก็เป็นทางปฏิบัติอีกส่วนหนึ่งหลังจากมีการอนุมัติของธนาคารให้จ่ายเงินตามเช็คไปแล้ว ในกรณีที่หากจะมีการฉ้อฉลหรือหลอกลวงเช่นใดหลังจากนั้น ย่อมเป็นความรับผิดอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ซึ่งถูกโต้แย้งสิทธิจะไปว่ากล่าวระหว่างกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share