คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7506/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ที่ร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต้องร้องขอให้คดีที่มีการบังคับคดีนั้น การที่โจทก์ร้องขอในคดีนี้ให้เพิกถอนการบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว และบทบัญญัติดังกล่าวเปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีนั้นได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนั้นก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำของนายกิตติ กิตติพจน์วิไล ที่มีอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระเป็นเงิน 200,616 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2541 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิตติ กิตติพจน์วิไล ร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยไม่ให้เกิน 616 บาท กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและโจทก์ขอให้บังคับคดีแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดี (ของคดีนี้) มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 แจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ส่งเงินตามจำนวนที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดไว้ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ขอส่งเงินจำนวน 126,747.85 บาท เท่าที่มียอดคงเหลืออยู่ในบัญชีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ตั้งเรื่องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ส่งเงินที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดไว้ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียง 126,747.85 บาท เท่าที่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีทำให้ไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ เพราะธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ส่งเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ให้แก่คดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง บริษัทพัฒนาสตีล จำกัด โจทก์ นางสุนันทา กิตติพจน์วิไล กับพวก จำเลย เป็นเงินจำนวน 693,804.04 บาท โดยโจทก์ในคดีดังกล่าวมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากไว้ดังเช่นโจทก์ในคดีนี้ ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ส่งเงินให้แก่คดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า หมายอายัดสิทธิเรียกร้องเป็นหมายอายัดชั่วคราว ยังไม่ใช่เจ้าหน้าหนี้ตามคำพิพากษา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ จึงส่งเงินจำนวน 693,804.04 บาท ให้แก่คดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นการดำเนินการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 (2) และมาตรา 296 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเงินที่จ่ายไปในคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น คืนให้แก่โจทก์ด้วย
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำงานล่าช้า และมิได้ปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น เรียกเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ไปก่อน โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้มิได้คัดค้าน ทำให้โจทก์เสียหาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในการร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ดำเนินการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น จะต้องร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี เมื่อตามคำร้องของโจทก์เป็นการร้องขอให้เพิกถอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงชอบที่จะไปร้องขอในคดีดังกล่าว ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำร้องที่โจทก์ยื่นเข้ามาในภายหลังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลยกคำร้องฉบับแรกแล้วจึงไม่รับ ให้ยกคำร้องขอแก้ไขคำร้องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ร้องขอในคดีนี้ให้เพิกถอนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น ได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้… เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับคดีใดๆ… ตามที่ศาลเห็นสมควร” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่ร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต้องร้องขอในคดีที่ที่มีการบังคับคดีนั้น การที่โจทก์ร้องขอในคดีนี้ให้เพิกถอนการบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่สามารถไปร้องขอในคดีหมายเลขแดงดังกล่าวได้นั้น ก็เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีนั้นได้อยู่แล้ว และที่โจทก์ฎีกาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเจ้าพนักงานบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงดังกล่าวคืนเงินที่คดีนี้อายัดชั่วคราวไว้นั้น เห็นว่า เมื่อการบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงดังกล่าวยังไม่ถูกเพิกถอน เจ้าพนักงานบังคับคดีคดีนี้จึงไม่อาจเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share