คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเพียงพนักงานรับจ่ายพัสดุทั่วไป ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาพัสดุในคลังพัสดุ แม้ว่า ก.ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกของจำเลยมีคำสั่งให้จำเลยกับพวกจัดเก็บพัสดุเข้าที่เก็บให้เรียบร้อยก็ตาม แต่โดยหน้าที่ ก. จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุโดยตรง ความรับผิดชอบดังกล่าวจึงหาโอนไปยังจำเลยกับพวกไม่การที่จำเลยไม่รายงานให้ ก.ทราบว่าหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องจักรผลิตขวดหาไม่พบหรือสูญหาย แม้จะทำให้ ก.เข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าหัวฉีดยังมีอยู่ในคลังและจัดเก็บเข้าช่องเก็บถูกต้องแล้ว ก.จึงไม่ได้ตรวจสอบ จนต่อมาอะไหล่นั้นถูกคนร้ายลักไป ก็ไม่ใช่ผลโดยตรงอันเป็นเหตุให้หัวฉีดของโจทก์หายไป และไม่ใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนธันวาคม 2534 ถึงเดือนมีนาคม2525 นายกิตติ เอี่ยมบัลลังก์ หัวหน้าแผนกวัสดุทั่วไปของโจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างของโจทก์รวมทั้งจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ตำแหน่งพนักงานรับจ่ายพัสดุประจำคลังเก็บพัสดุภัณฑ์ของโจทก์ ช่วยกันจัดเก็บพัสดุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในคลังให้เข้าที่เรียบร้อยเพื่อความสะดวกแก่การเบิกจ่าย และมีคำสั่งให้จำเลยเป็นหัวหน้าจัดเก็บพัสดุจากต่างประเทศมีนายบุญสืบ เฉลิมเกตุนายเสน่ห์ แสงสุข กับพวกอีก 2 คน เป็นผู้ช่วยในการจัดเก็บพัสดุจำเลยจะอ่านหมายเลขประจำตัวอะไหล่ให้ผู้ช่วยจำเลยดังกล่าวยกเข้าช่วยเก็บซึ่งมีหมายเลขตรงกับเลขประจำตัวอะไหล่ หากหาอะไหล่ตัวใดไม่พบ จำเลยจะต้องบันทึกรายงานแล้วแจ้งให้นายกิตติทราบทุกวันในระหว่างเวลาจัดเก็บพัสดุดังกล่าว จำเลยพบเห็นอะไหล่หัวฉีดที่ใช้กับเครื่องจักรผลิตขวดจำนวน 430 ตัว ราคาตัวละ 293 บาท เป็นเงินรวม 125,990 บาท บรรจุอยู่ในลังและวางอยู่กับพื้นในคลังเก็บพัสดุของโจทก์ มีหมายเลขประจำตัวตามทะเบียนอะไหล่ 203.342/5 จำเลยไม่ได้อ่านเลขทะเบียนอะไหล่ดังกล่าวให้ผู้ช่วยยกเข้าช่องเก็บแต่เลยไปจัดเก็บอะไหล่ชนิดอื่น และไม่รายงานให้นายกิตติทราบว่าหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องจักรผลิตขวดหาไม่พบหรือสูญหาย การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจให้โจทก์และนายกิตติเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าอะไหล่ดังกล่าวยังมีอยู่ในคลังและจัดเก็บเข้าช่องเก็บถูกต้องตามทะเบียนอะไหล่แล้ว โจทก์และนายกิตติจึงไม่ได้ตรวจสอบ ต่อมาปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาดำเนินการจัดเก็บพัสดุภัณฑ์ดังกล่าว หัวฉีดที่ใช้กับเครื่องจักรผลิตขวดถูกลักไปจากคลังเก็บพัสดุของโจทก์ทั้งหมด เป็นเหตุให้โจทก์และนายกิตติไม่สามารถสอบสวนติดตามเอาทรัพย์คืนได้ทันที ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 จำเลยได้ทำรายงานการจัดเก็บพัสดุภัณฑ์อะไหล่ต่างประเทศส่งนายกิตติว่า พัสดุที่สั่งให้จัดเก็บมีอะไหล่เก่าที่หาไม่พบ 32 รายการรวมทั้งหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องผลิตขวดด้วย และมีอะไหล่ใหม่ที่เข้ามาระหว่างเดือนมกราคม 2525 ถึงเดือนพฤษภาคม 2525 ไม่มีของอีก 30รายการ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหลังจากคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่ารายงานของจำเลยดังกล่าวไม่ตรงกับความจริง การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของนายกิตติ และเป็นงานที่จำเลยต้องกระทำตามหน้าที่ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 125,990 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่ประธานกรรมการของโจทก์รู้เหตุกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,222.50 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 134,212.50 บาท โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหนังสือดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 134,212.50 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 125,990บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดและไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบโจทก์ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ ทำหน้าที่เป็นพนักงานรับจ่ายพัสดุทั่วไปมีนายกิตติ เอี่ยมบัลลังก์ หัวหน้าแผนกวัสดุทั่วไปเป็นผู้บังคับบัญชา เมื่อเดือนธันวาคม 2524 นายกิตติมีคำสั่งด้วยวาจาให้จำเลยกับพวกจัดเก็บพัสดุในคลังพัสดุเข้าที่ จำเลยกับพวกทำการจัดเก็บพัสดุเข้าที่เสร็จในเดือนมีนาคม 2525 แต่จำเลยไม่จัดทำรายงานการจัดเก็บพัสดุว่ามีพัสดุใดขาดหายไปบ้าง ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2525 ผู้อำนวยการของโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและหาผู้รับผิดชอบเรื่องหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องผลิตขวดหายไป คณะกรรมการได้ตรวจสอบค้นหาในคลังพัสดุโดยละเอียดแล้วปรากฏว่าหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องผลิตขวดหายไป 430 ตัว และในเวลาเดียวกันนายกิตติได้สั่งให้จำเลยทำรายงานการจัดเก็บพัสดุจำเลยได้ทำรายงานเสนอนายกิตติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525ปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.1 และหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องผลิตขวดนั้น กองผลิต 3 ของโจทก์ได้เบิกไปครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่5 พฤศจิกายน 2524 โดยจำเลยมิได้เป็นผู้จ่าย จำเลยถูกกล่าวหาว่าลักทรัพย์ดังกล่าว แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นเพียงพนักงานรับจ่ายพัสดุทั่วไปเท่านั้น ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาพัสดุในคลังพัสดุ ถึงแม้นายกิตติหัวหน้าแผนกวัสดุทั่วไปมีคำสั่งให้จำเลยกับพวกจัดเก็บพัสดุในคลังพัสดุเข้าที่เก็บให้เรียบร้อยก็ตาม แต่โดยหน้าที่นายกิตติจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุในคลังพัสดุโดยตรง ความรับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุที่เก็บรักษาไว้ในคลังพัสดุหาโอนไปยังจำเลยกับพวกที่จัดเก็บไม่ นายกิตติเองก็เบิกความรับว่าการสั่งและรับหัวฉีดที่หายไปดังกล่าวไว้นั้น จำเลยไม่ทราบพยานและบุคคลอื่นอีกหลายคนเป็นผู้รู้ว่าหัวฉีดดังกล่าวเก็บไว้ที่ใด จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับหัวฉีดดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น การที่หัวฉีดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในช่องเก็บของให้เรียบร้อยมาตั้งแต่แรกก็ไม่ใช่ความผิดของจำเลย นายกิตติจึงต้องควบคุมดูแลการจัดเก็บพัสดุอย่างใกล้ชิด และให้จำเลยกับพวกรายงานการจัดเก็บทุกวัน นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่ามีคนร้ายงัดคลังพัสดุแล้วขโมยพัสดุไปหรือพัสดุในคลังพัสดุได้หายไปในระหว่างที่จำเลยทำหน้าที่พนักงานรับจ่ายพัสดุหรือในระหว่างที่จำเลยจัดเก็บพัสดุเข้าที่เก็บ การที่จำเลยไม่รายงานเกี่ยวกับการจัดเก็บพัสดุให้นายกิตติทราบไม่ใช่ผลโดยตรงอันเป็นเหตุให้หัวฉีดของโจทก์หายไป นายกิตติสามารถที่จะตรวจตราพัสดุในคลังและสั่งให้ผู้อื่นเข้าไปทำหน้าที่แทนจำเลยได้ตลอดเวลา การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้หัวฉีดที่ใช้กับเครื่องผลิตขวดของโจทก์สูญหายไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน

Share