คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินให้เวลาโจทก์ฟ้องน้อยกว่า 7 วัน โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน กลับยินยอมปฏิบัติตามหมายเรียกตลอดจนร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนตลอดมาจนกระทั่งเสร็จสิ้นและเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินแล้วโจทก์มากล่าวอ้างว่าหมายเรียกดังกล่าวไม่ชอบภายหลังหาได้ไม่ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า แสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยได้เสียภาษีไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนมาโดยตลอด แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าแก่โจทก์ตามสำเนาแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มที่ฝ. 4/1070/2/02816-97 รวม 82 ฉบับ ประเมินให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 12,398,980.02 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ได้มีคำวินิจฉัยให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้และเงินเพิ่มไปชำระให้จำเลยเป็นเงิน 8,677,351.03 บาทเจ้าพนักงานประเมินยังได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์ตามมาตรา 24 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1070/2/02503 1070/2/02505 และ1070/2/02507 เป็นเงิน 1,550,954.49 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งสามฉบับดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มให้จำเลยเป็นเงิน 827,175.73 บาท ส่วนภาษีการค้า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า ดังโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องตามกฎหมายและชอบด้วยวิธีการแล้ว และให้โจทก์เสียภาษีการค้า เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่ถูกประเมิน แต่ให้ลดเบี้ยปรับลงรวมเป็นเงินทั้งสิ้น2,981,751.41 บาท การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเกี่ยวกับภาษีเงินได้ตามมาตรา 76 ทวิ มาตรา 71(1) และมาตรา 70 ทวิการประเมินภาษีการค้า และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งหมดดังกล่าวล้วนเป็นการขัดต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มเลขที่ ฝ. 4/1070/2/02816ถึงเลขที่ ฝ. 4/1070/2/02897 รวม 82 ฉบับ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 1070/2/02503, เลขที่ 1070/2/02505และเลขที่ 1070/2/02507 รวม 3 ฉบับ แบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1070/3/03614, เลขที่ 1070/3/03616 และเลขที่ 1070/3/03618รวม 3 ฉบับ และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องโจทก์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับแบบแจ้งการประเมิน เลขที่ ฝ. 4/1070/2/02816 ถึงเลขที่ ฝ. 4/1070/2/02897(รวม 82 ฉบับ) และเลขที่ 1070/2/02503, 1070/2/02505 และเลขที่1070/2/02507 (รวม 3 ฉบับ) ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับคำขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1070/3/03614 1070/3/03616และ 1070/3/03618 (รวม 3 ฉบับ)
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ต่อไปจะได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา 23 และ 87 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เพราะให้เวลาแก่โจทก์น้อยกว่า 7 วัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้หมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินจะให้เวลาแก่โจทก์น้อยกว่า 7 วัน ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านการปฏิบัติโดยไม่ชอบของเจ้าพนักงานประเมินในกรณีดังกล่าวมาแต่แรก แต่โจทก์กลับยินยอมปฏิบัติตามหมายเรียกนั้น ตลอดจนให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนตลอดมาจนกระทั่งการตรวจสอบไต่สวนเสร็จสิ้นและเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินแล้วเช่นนี้ โจทก์จึงเพิ่งมากล่าวอ้างว่าหมายเรียกดังกล่าวไม่ชอบหาได้ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวไม่ทำให้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ภาษีการค้าสำหรับเดือนกุมภาพันธ์2517 กับเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2518 ขาดอายุความตามมาตรา 88 ทวิ(1) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะจำเลยมิได้ประเมินภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเห็นว่า มาตรา 88 ทวิ ได้แยกกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินต้องทำการประเมินไว้ 2 กรณี คือ กรณีตาม (1) ต้องทำการประเมินภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการและ (2) ต้องทำการประเมินภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการในกรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงว่า กรณีของโจทก์เป็นกรณียื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า กรณีจึงเข้าอยู่ในมาตรา 88 ทวิ(1)ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินต้องทำการประเมินภายใน 5 ปี ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยนำสืบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 35 โจทก์ซึ่งอ้างว่าการคำนวณรายรับร้อยละยี่สิบห้าต้องคำนวณจากรายรับของโจทก์ทั้งหมดไม่เฉพาะแต่รายรับค่าตัวแทนนายหน้านั้นก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ารายรับของโจทก์มีทั้งหมดเท่าใด ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 35 ที่จำเลยคำนวณว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้านั้นไม่ถูกต้องอย่างไรข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 88 ทวิ(2)ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าของโจทก์รายนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2523 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าการประเมินของเจ้าพนักงานจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share