แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายไก่กับโจทก์เพียงคนเดียว ใบรับไก่ก็มีแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อรับ แม้จำเลยที่ 2 จะอยู่กิน ฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็มีอาชีพทำไร่และ ขับรถบรรทุกและไม่ได้มาที่ร้านของจำเลยที่ 1 ทุกวัน ปกติจำเลย ที่ 1 จะอยู่กับลูกจ้างจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนหรือกระทำ การค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อมีการผิดสัญญาซื้อขายไก่ โจทก์ต้อง บังคับเอากับจำเลยที่ 1 โดยตรง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด หนี้ดังกล่าวไม่ใช่หนี้ร่วมตามป.พ.พ. มาตรา 291.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ซื้อเชื่อไก่สดไปจากโจทก์เป็นเงิน 54,230.10 บาท จำเลยชำระเงินจำนวน 12,829 บาท ยังค้างชำระอีก 41,401.10 บาท ซึ่งจะต้องชำระภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน2527 แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน47,352.35 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีขาดอายุความแล้ว
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยซื้อไก่สดจากโจทก์ และไม่เคยร่วมหรือเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าไก่สดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 41,401.10 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดราคาไก่ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนทำสัญญาซื้อขายไก่กับโจทก์เพียงคนเดียว เมื่อมีการผิดสัญญาโจทก์ก็ชอบที่บังคับเอากับจำเลยที่ 1 โดยตรง โจทก์พยายามนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนหรือกระทำการค้าร่วมกันเพื่อจะได้รับผิดด้วยแต่ปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.1 – จ.22 ซึ่งเป็นใบรับไก่มีแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อรับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องกับการค้าขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังได้ความตามคำนางนวพรพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพทำไร่และขับรถบรรทุกด้วย นายสมพงษ์ พยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มาร้านจำเลยที่ 1 ทุกวัน ปกติจำเลยที่ 1 จะอยู่กับลูกจ้างจึงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 แต่ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนหรือกระทำการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.