คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำขอระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนเสร็จเพื่อแสดงว่าเอกสารท้ายฟ้องที่แสดงรายละเอียดของรายการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ ตลอดถึงราคาว่าซ่อมอะไรราคาเท่าไรนั้นเป็นเอกสารปลอม เมื่อจำเลยได้นำสืบบุคคลอื่นเป็นพยานแล้วว่าราคาตามรายการต่างๆ สูงเกินไป และค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ของโจทก์นี้แม้จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ศาลก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดให้ตามสมควรอยู่แล้วการที่จะนำสืบว่าลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือปลอม จึงไม่เป็นการอ้างพยานหลักฐานเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและไม่จำเป็นต้องสืบพยานที่ขออ้างเพิ่มเติมนั้น ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีเงื่อนไขยกเว้นไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมายหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายการมีเงื่อนไขดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถทำการขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอันจะทำให้จำเลยที่ 1 จะต้องเสี่ยงภัยมากขึ้นม.ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจย่อมมีความรู้ความสามารถในการขับรถยนต์ได้ ม. จึงเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมาย ม. ขับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 รับประกันไว้จากจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนช.บ.-49545 ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัทฮั่งเชียงจั่น จำกัด โจทก์ที่ 2 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทฮั่วเชียงจั่น จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ.-47283 ไว้จากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภากรชลบุรี แบบชดใช้ความเสียหายให้กับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปวิ่งร่วมหาประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเป็นนายจ้างของนายแม้น ถ้วยงาม คนขับรถ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2522 นายแม้น ถ้วยงามได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะบียน ช.บ.-47283 ไปในทางการที่จ้างให้กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ.-49545 ซึ่งมีนายโสภณ สามารถลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ขับ คนขับรถทั้งสองคันถึงแก่ความตายรถคันหมายเลขทะเบียน ช.บ.-49545 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 ได้จ่ายค่าซ่อมไปแทนผู้เอาประกันภัยจึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้ โจทก์ที่ 1 ยังได้รับความเสียหายในการขาดประโยชน์ในการใช้รถรับจ้างบรรทุกสินค้าและดอกเบี้ย จึงขอศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ให้การต่อสู้หลายประการรวมทั้งว่ากรมธรรม์ประกันภัยมีเงื่อนไขว่าไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่รถยนต์โดยบุคคลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมาย นายแม้น ถ้วยงาม ไม่มีใบอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องและตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของบุคคลภายนอกไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่14 มกราคม 2522 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 76,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2522 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 รวมกันเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526 หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตนั้น ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 บัญญัติไว้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน ถ้าจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก็ต้องยื่นต่อศาลก่อนที่ได้เสร็จการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน เมื่อระยะเวลาดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 มีเหตุอันสมควสรแสดงว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใดจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนพิพากษาคดีขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำขอซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ระบุคำเบิกความเป็นพยานของนายปี๊ แซ่เตียว เพิ่มเติมเท่านั้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อ้างว่าพยานหลักฐานที่ขอระบุเพิ่มเติมจะแสดงว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 (เอกสารหมาย จ.4) เป็นเอกสารที่ลงลายมือชื่อปลอม เอกสารดังกล่าวแสดงรายละเอียดของรายการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ตลอดถึงราคาว่าซ่อมอะไร ราคาเท่าไร ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็นำสืบนายประเทือง กาญจนนางกุลภินทร์เป็นพยานว่าราคาตามรายการต่าง ๆ สูงเกินไปแล้ว และค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 นี้แม้จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ศาลก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดให้ตามสมควรอยู่แล้ว การที่จะนำสืบว่าลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 เป็นลายมือปลอมจึงไม่เป็นการขออ้างพยานหลักฐานเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม และไม่จำเป็นต้องสืบพนายที่ขออ้างเพิ่มเติมนั้นศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นบัญช่ระบุพยานเพิ่มเติมชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายโสภณ สามารถ ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนช.บ.-49545 ของโจทก์ที่ 1 ชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ.-47283 ของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีนายแม้น ถ้วยงามลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นคนขับ ไปในทางการที่จ้างโดยเหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายแม้นฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ไปแล้วจึงได้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226, 880จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่นายแม้น ถ้วยงามขับ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 1 จะใฃ้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยโดยกำหนดจำนวนเงินไว้ 100,000 บาท อันเป็นการประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 แต่ได้มีเงื่อนไขยกเว้นตามข้อ 2.11,2.11.7 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมายหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย เห็นว่าการมีเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถทำการขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัย เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อันทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเสี่ยงภัยมากขึ้นแต่นายแม้น ถ้วยงาม ลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจ นายแม้นย่อมมีความรู้ความสามารถในการขับรถยนต์ได้ นายแม้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตามกฎหมายแล้วนายแม้นขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 รับประกันภัยไว้ โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นการผิดเงื่อนไขข้อ 2.11.7 ตามกรมธรรม์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสอง

พิพากษายืน

Share