คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับ ซ.สามีโจทก์ 1 ปีจำเลยได้ไถ่ถอนการขายฝากแล้ว แม้การไถ่ถอนจะไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม ก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพย์สิทธิในที่ดินยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่ในระหว่างโจทก์และจำเลยด้วยกันเอง ย่อมมีผลใช้ยันกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ซ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาและผู้จัดการมรดกของนายซิ่วขิมหรือขิม ผรณาปิติ จำเลยเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๙๗ ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จากนายซิ่วขิมทำหนังสือสัญญาเช่าคราวละ ๑ ปี เมื่อนายซิ่วขิมตายจำเลยก็ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ มีกำหนดเวลาเช่า ๑ ปี ค่าเช่า ๑๓,๐๐๐ บาท เมื่อหมดอายุสัญญา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบที่ดินคืน จำเลยไม่ยอมคืนขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว ห้ามเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แบบ (น.ส.๓) เมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ จำเลยขายฝากที่ดินแปลงนี้ไว้กับนายซิ่วขิม หรือขิมมีกำหนด ๑ปี ก่อนครบกำหนดจำเลยนำเงินจำนวนตามสัญญาขายฝากไปให้นายซิ่วขิมหรือขิม ไถ่ถอนการขายฝากแล้วที่ดินจึงตกเป็นของจำเลย จากนั้นจำเลยและนางชู่เจี่ย แซ่อึ้ง มารดาได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ จำเลยให้การอีกว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินจากนายซิ่วขิมหรือขิมและโจทก์ด้วย
ในวันชี้สองสถานนางซู่เจี่ย แซ่อึ้ง มารดาจำเลยร้องขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจำเลยร่วม และบริวารออกไปจากที่พิพาทห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้ค่าเสียหาย ๑๓,๐๐๐ บาทและค่าเสียหายปีละ ๑๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะออกจากที่พิพาทเสร็จสิ้น
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของได้นำที่พิพาทไปขายฝากไว้กับนายซิ่วขิมหรือขิม ผรณาปิติ สามีโจทก์มีกำหนด ๑ ปี แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยได้ไปไถ่ถอนการขายฝากที่พิพาทจากสามีโจทก์ก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝากแล้ว จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมาโดยมิได้เช่าจากโจทก์ แม้การไถ่ถอนการขายฝากจะไม่มีการจดทะเบียนก็ตาม ก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพย์สิทธิในที่ดินยังไม่บริบูรณ์เท่านั้นแต่ในระหว่างโจทก์และจำเลยด้วยกัน ย่อมมีผลใช้ยันกันดังที่กล่าวข้างต้นได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอันใดที่จะฟ้องขับไล่จำเลยและจำเลยร่วม
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share