คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยมีคำขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉินให้ศาลสั่งห้ามผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดการใช้เงินเป็นการชั่วคราว ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งอายัด จึงเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกคือผู้ร้องถูกหมายอายัดและขอเพิกถอนคำสั่ง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเป็นผู้ถูกหมายอายัดและเป็นผู้ขอให้ยกเลิกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 จึงต้องอาศัยบทบัญญัติมาตรา 259 นำมาตรา 312 ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำหรับบุคคลภายนอกเป็นผู้ร้องขอมาใช้บังคับโดยอนุโลม อันเป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสอง เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงิน เลขที่ 001/2537 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 4,300,595 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่คืนหรือคืนไม่ได้ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 4,300,595 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2540 กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 20,936,955.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยมีคำขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉินให้ศาลสั่งห้ามธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 001/2537 จำนวนเงิน 4,300,595 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 001/2537 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2537 ไว้เป็นการชั่วคราว
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 001/2537
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งอายัดการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 001/2537 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2537
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาให้โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกเลิกคำสั่งอายัดการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่พิพาทในกรณีมีเหตุฉุกเฉินเป็นคำสั่งอันถึงที่สุดดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งไปยังธนาคารผู้ร้องสาขาวิสุทธิกษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ครั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัด กรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 1 วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามีบัญญัติไว้ในมาตรา 267 วรรคสอง ว่า “จำเลยอาจยื่นคำขอโดยพลัน ให้ยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นเสียและให้นำบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอ คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด” ซึ่งตามบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่จำเลยเป็นผู้ถูกหมายอายัดและเป็นผู้ขอให้ยกเลิก แต่ในกรณีที่บุคคลภายนอกถูกหมายอายัดและขอเพิกถอนคำสั่ง บทบัญญัติในลักษณะ 1 หมวด 1 หาได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ จึงต้องอาศัยบทบัญญัติมาตรา 259 นำมาตรา 312 ในลักษณะ 2 ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำหรับบุคคลภายนอกเป็นผู้ร้องขอมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยอนุโลม ผลจะเป็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นให้เพิกถอนอายัดถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง เช่นเดียวกัน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share