คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบ โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์รวมทั้งพนักงานอื่นเพื่อลดขนาดขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากจำเลยประสบกับการขาดทุนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม แต่ปรากฏว่าปี 2543จำเลยมีกำไร และปี 2544 จำเลยได้ซื้อที่ดินราคา 9,000,000 บาทเศษ ด้วยเงินสดส่วนหนึ่งและเงินกู้ธนาคารอีกส่วนหนึ่ง แสดงว่าจำเลยมิได้ขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดจำนวนลูกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิด กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน 2535 จำเลยรับโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ จ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ30,660 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 2,060 บาท รวมโจทก์ได้รับเงินเดือน 32,720 บาท เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 จำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายไม่มีงานทำ เสียชื่อเสียง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย 6,674,880 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยออกหนังสือรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 294,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยออกหนังสือการผ่านงานให้แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าต้นเดือนเมษายน 2535 จำเลยรับโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ อัตราค่าจ้างสุดท้ายรวมทั้งค่าครองชีพเดือนละ 32,720 บาท กำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยได้จ่ายค่าจ้างเดือนกรกฎาคม 2544 ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย240 วัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน ให้โจทก์รับไปในวันเลิกจ้าง รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันถึงวันเลิกจ้าง 9 ปี 3 เดือน เหตุที่เลิกจ้างเนื่องจากจำเลยได้ให้หน่วยงานฝ่ายคอมพิวเตอร์ไปรวมกับฝ่ายบัญชีโดยให้นายสุขสันต์ สัตยารมณ์ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีดูแลฝ่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาจำเลยก็ตั้งให้นายสุขสันต์เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2544 ปัจจุบันนายสุขสันต์ยังคงดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ ก่อนเลิกจ้างโจทก์ประมาณ 4-5 เดือน จำเลยได้เลิกจ้างพนักงานแผนกโภชนาการจำนวน 14 คน หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยได้เลิกจ้างพนักงานทำความสะอาดและพนักงานแปลจำนวน40 คน เพื่อตัดปัญหาในการจัดการบริหารและลดค่าใช้จ่าย โดยจำเลยได้จ้างบริษัทอื่นมาทำหน้าที่นี้แทน และจำเลยได้ซื้อที่ดินที่บริเวณด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาลจำเลย เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ราคา 9,000,000 บาทเศษ เพื่อทำเป็นที่จอดรถโดยกู้เงินจากธนาคารบางส่วน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบ โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่างล่วงหน้าให้โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์รวมทั้งพนักงานอื่น อ้างว่าเพื่อลดขนาดขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากจำเลยประสบกับการขาดทุนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม แต่ปรากฏว่าปี 2543 จำเลยมีกำไรและปี 2544 จำเลยได้ซื้อที่ดินราคา 9,000,000 บาทเศษ เพื่อทำเป็นที่จอดรถและกันที่ดินด้านหน้าไว้เพื่อความสะดวกของลูกค้าของจำเลยเพิ่มเติมด้วยเงินสดส่วนหนึ่งและเงินกู้จากธนาคารอีกส่วนหนึ่ง แสดงว่าจำเลยมิได้ขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดจำนวนลูกจ้างเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดกรณีจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share