คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14426/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีสัญญากำหนดความรับผิดต่อกันไว้โดยระบุว่า ในกรณีที่พนักงานประจำรถและหรือรถตามสัญญานี้ ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นแก่ผู้ให้สัญญาหรือบุคคลใด ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง หรือนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ผู้รับสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาที่กล่าวถึงความรับผิดของจำเลยผู้รับสัญญา ในกรณีที่พนักงานประจำรถของจำเลยไปก่อให้เกิดความเสียหายอันทำให้โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อความเสียหายดังกล่าวมาจากเหตุละเมิด อายุความในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้จึงมีกำหนด 1 ปี และไม่อาจนำข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาขยายอายุความละเมิดออกไป เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/11 เมื่อได้ความว่าผู้แทนของโจทก์ลงนามในช่องผู้จัดการใหญ่ อนุมัติจ่ายค่าลากรถยนต์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ วันที่ 8 กันยายน 2548 พ้นกำหนด 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 206,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องของจำเลยให้เรียกบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 58,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า คดีนี้มูลเหตุที่ฟ้องร้องกันมาจากรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 2698 ขอนแก่น ของจำเลยมีนายเมธีเป็นผู้ขับในทางการจ้างของจำเลยโดยประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 12 – 1104 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์จนได้รับความเสียหาย จึงเป็นมูลหนี้จากละเมิดโดยแท้ แม้จำเลยจะยอมรับว่าได้ทำสัญญารถร่วมกับโจทก์ ขณะเกิดเหตุสัญญารถร่วมดังกล่าวยังมีผลบังคับ ข้อกำหนดตามสัญญาข้อ 12 คู่สัญญากำหนดความรับผิดต่อกันตามสัญญา โดยระบุว่า ในกรณีที่พนักงานประจำรถและหรือรถตามสัญญานี้ ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นแก่ผู้ให้สัญญาหรือบุคคลใด ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นบนเส้นทางหรือนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ในข้อ 3 ก็ตาม ผู้รับสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น นั้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาที่กล่าวถึงความรับผิดของจำเลยผู้รับสัญญา ในกรณีที่พนักงานประจำรถของจำเลยไปก่อให้เกิดความเสียหายอันทำให้โจทก์จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อความเสียหายดังกล่าวมาจากเหตุละเมิด ซึ่งได้ความว่าจำเลยจัดให้มีการประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 10 – 2696 ขอนแก่น ไว้กับจำเลยร่วม และได้ความว่าหลังเกิดเหตุโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยร่วมแล้ว อายุความในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้จึงมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นตามสัญญาข้อ 12 ตามสัญญารถร่วม หาใช่เป็นมูลละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยมีข้อผูกพันรับผิดต่อกันตามสัญญารถร่วม สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีมูลละเมิดอย่างเดียว หาใช่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญารถร่วมด้วย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นจึงไม่อาจนำข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวมาขยายอายุความละเมิดออกไปได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อได้ความว่าโจทก์โดยนายณเณร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหาร ลงนามในช่องผู้จัดการใหญ่ ซึ่งฟังได้ว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคลโจทก์ อนุมัติจ่ายค่าลากรถยนต์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 พ้นกำหนด 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share