แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสิบดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และรุกล้ำที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาท การที่จำเลยทั้งสิบว่าจ้างผู้ออกแบบอาคารพิพาทและใช้วิศวกรควบคุมการก่อสร้างคนเดียวกัน ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทในคราวเดียวกัน และดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทพร้อมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบเป็นตัวการร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและรุกล้ำที่สาธารณะ
เมื่อจำเลยทั้งสิบทราบคำสั่งของเทศบาลตำบลแก่งคอยที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ จำเลยทั้งสิบไม่ปฏิบัติตาม ยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทต่อไป จึงเป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และร่วมกันดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่
ขณะจำเลยทั้งสิบได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ การก่อสร้างอาคารพิพาทเริ่มไปได้ประมาณ 3 เดือน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเพียงก่อสร้างฐานราก แต่จำเลยทั้งสิบดำเนินการต่อไปอีกเป็นเวลานานปีเศษ ทั้งในระหว่างนั้นจำเลยทั้งสิบได้รับคำสั่งแจ้งเตือนให้ระงับการก่อสร้างด้วยเหตุเดียวกันอีกหลายครั้ง เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ออกตามกฎหมาย ประกอบกับการดำเนินการก่อสร้างของจำเลยทั้งสิบมีผลทำให้การใช้ประโยชน์สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สะดวกและขัดข้อง จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษจำเลยทั้งสิบให้เบาลง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบออกจากที่สาธารณะที่รุกล้ำ ไม่ได้มีคำขอให้เว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตร เมื่อที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณะตามฟ้องมีความกว้าง 1.50 เมตร ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตรตลอดแนว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสิบได้ความว่า ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาท มีการร่นระยะด้านหน้าอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกผิดแผกไปจากแผนผังบริเวณ และได้ความว่า ความยาวของที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกไม่เท่ากัน ข้อเท็จจริงไม่ได้ความชัดว่าด้านหลังอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกแต่ละด้านรุกล้ำที่สาธารณะมากน้อยเท่าใด ประกอบกับการออกจากที่สาธารณประโยชน์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนจะต้องปฏิบัติด้วยการรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่รุกร้ำ เมื่อยังไม่ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตของอาคารพิพาทส่วนที่ต้องรื้อถอน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันออกไปจากที่สาธารณประโยชน์ด้านหลังอาคารพิพาท .60 เมตร จึงไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ชอบที่โจทก์จะไปว่ากล่าวดำเนินคดีต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 30, 31, 40, 65, 66 ทวิ, 67, 69, 70, 71 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91 และให้จำเลยทั้งสิบออกจากบริเวณที่สาธารณะที่รุกล้ำตามฟ้อง
จำเลยทั้งสิบให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 30 วรรคสอง, 31 (ที่ถูกคือ 31 วรรคหนึ่ง), 40วรรคหนึ่ง (ที่ถูกคือ 40 (1)), 65 วรรคสอง (ที่ถูกคือ 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 66 (ที่ถูกไม่ปรับบท มาตรา 66), 67 (ที่ถูกคือ 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 69 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ (ที่ถูกคือ ฐานดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่) จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2,000 บาท รวมจำคุกคนละ 1 ปี 12 เดือน และปรับคนละ 42,000 บาท ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสิบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 16 เดือน และปรับคนละ 28,000 บาท สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (ที่ถูก กับฐานดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่และฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต) ตาม มาตรา 30 วรรคสอง, 31 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 40 (1) ด้วย), 65, 67 (ที่ถูกคือ 65 วรรคสอง, 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 69) รวม 2 กระทง ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วให้ปรับจำเลยทั้งสิบเป็นรายวันอีกกระทงละ 2,000 บาท ต่อคน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 1 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง กับให้จำเลยทั้งสิบและบริวารร่วมกันออกไปจากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่รุกล้ำด้านหลังอาคารกว้าง 0.60 เมตร และให้ร่วมกันเว้นระยะห่างด้านหลังอาคารกว้าง 2 เมตร ตลอดแนว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสิบไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสิบเป็นรายวัน วันละ 2,000 บาท ต่อคน สำหรับความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 รวม 606 วัน เป็นเงิน 1,212,000 บาท และความผิดฐานไม่แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่ กับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 รวม 601 วัน เป็นเงิน 1,202,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,414,000 บาทต่อคน สำหรับความผิดฐานอื่น และนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสิบฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและรุกล้ำที่สาธารณะหรือไม่ เห็นว่า เดิมที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3155 เป็นของบริษัทล้อมสหญาติ จำกัด เมื่อปี 2525 บริษัทได้มอบที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่เทศบาลตำบลแก่งคอยเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งในเรื่องนี้นางไพเราะ นายกเทศมนตรีผู้แทนของเทศบาลตำบลแก่งคอยในขณะเกิดเหตุก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันการมอบที่ดินดังกล่าว เมื่อมีการยกที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ ที่ดินจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายทันที โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมไม่สิ้นไปถึงแม้จำเลยทั้งสิบจะครอบครองและเทศบาลตำบลแก่งคอยไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่มอบ นายบัณฑิตพงศ์ นายช่างโยธา สำนักงานเทศบาลตำบลแก่งคอยในขณะเกิดเหตุและเป็นผู้ออกแบบอาคารพิพาทเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทมีความกว้าง 1.50 เมตรตลอดแนว และในการออกแบบอาคารพิพาทได้ร่นระยะจากแนวเขตที่ดินด้านหลังทั้งสองด้าน ด้านละ 1 เมตร อาคารพิพาททั้งสองอาคารจะห่างกัน 2 เมตร ซึ่งตามแผนผังบริเวณที่ยื่นประกอบในการขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทก็ปรากฏชื่อจำเลยทั้งสิบเป็นผู้ขออนุญาต มีระยะร่นและความกว้างระหว่างด้านหลังอาคารพิพาทสอดคล้องกับที่นายบัณฑิตพงศ์เบิกความ นายบัณฑิตพงศ์รับจ้างออกแบบอาคารพิพาทและได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยทั้งสิบ ไม่มีเหตุที่จะต้องเบิกความให้จำเลยทั้งสิบต้องเสียหาย ก่อนออกแบบนายบัณฑิตพงศ์นำตลับเมตรไปวัดระยะความกว้างของที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาท ระยะความกว้างที่วัดได้ย่อมมีความแน่นอน แต่จากคำเบิกความของนายสมชาย นายช่างโยธา สำนักงานเทศบาลตำบลแก่งคอยในขณะเกิดเหตุ และพันตำรวจโทกมล พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ได้ความว่า เมื่อจำเลยทั้งสิบดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทแล้วเสร็จ ไปวัดระยะความกว้างของที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทได้ .90 เมตร ตลอดแนว ตามภาพถ่าย น้อยกว่าเดิม .60 เมตร นายสมชายรู้เห็นเกี่ยวกับความกว้างของที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทจากโฉนดที่ดินเลขที่ 3155 ที่บริษัทล้อมสหญาติ จำกัด มอบให้แก่เทศบาลตำบลแก่งคอย และสอดคล้องกับคำเบิกความของนายบัณฑิตพงศ์ นอกจาก นั้นนายสมชายและพันตำรวจโทกมลไปวัดระยะความกว้างของที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทตามหน้าที่ ไม่มีเหตุที่จะต้องเบิกความบิดเบือนข้อเท็จจริง เมื่อความกว้างของที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทเหลือเพียง .90 เมตร ย่อมแสดงชัดอยู่ในตัวว่าจำเลยทั้งสิบไม่ได้ร่นระยะด้านหลังอาคารพิพาทจากแนวเขตที่ดินให้เป็นไปตามแผนผังบริเวณ ทำให้ด้านหลังอาคารพิพาททั้งสองอาคารห่างกันน้อยกว่า 2 เมตร และด้านหลังอาคารพิพาทยังรุกล้ำที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังด้วย ที่จำเลยทั้งสิบอ้างว่าที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทเดิมมีความกว้าง .90 เมตรนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าได้มาจากการวัดระยะ เป็นเพียงการกะประมาณซึ่งไม่แน่นอน และที่จำเลยทั้งสิบอ้างว่าไม่มีเจตนารุกล้ำที่สาธารณะเพราะไม่ทราบว่าที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทเป็นที่สาธารณะนั้น ก็ได้ความจากนายสมชายว่าได้แจ้งนายสมศักดิ์ วิศวกรผู้ควบคุมงานการก่อสร้าง จำเลยที่ 4 และที่ 5 ว่าการก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำทางสาธารณะ ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็เบิกความว่า หลังจากก่อสร้างอาคารพิพาทไปบางส่วน เทศบาลตำบลแก่งคอยได้แจ้งนายสมศักดิ์ว่าการก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำทางสาธารณะ แต่นายสมศักดิ์และจำเลยทั้งสิบยืนยันว่าเป็นการก่อสร้างตามแนวอาคารเดิม แสดงว่าจำเลยทั้งสิบทราบแล้วว่าที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทเป็นที่สาธารณะ และที่จำเลยทั้งสิบอ้างว่าที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทไม่ใช่ “ที่สาธารณะ” ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ด้านหลังอาคารพิพาทจึงไม่ต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตรนั้น ก็ไม่เป็นเหตุที่ทำให้จำเลยทั้งสิบดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทโดยพลการให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสิบอ้างว่าจำเลยที่ 1 ชื่อนายสุชาติ ไม่ได้ชื่อนายเกรียงชัย การส่งหนังสือหรือคำสั่งให้จำเลยที่ 1 โดยระบุชื่อนายเกรียงชัยไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามแผนผังบริเวณ ระบุชื่อผู้ขออนุญาตก่อสร้างว่านายเกรียงชัย และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารก็ระบุชื่อผู้รับอนุญาตว่านายเกรียงชัย ทั้งในการบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ ศาลชั้นต้นก็ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่านายเกรียงชัยหรือนายสุชาติ โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยกล่าวอ้างหรือโต้แย้งคัดค้านว่าไม่ถูกต้อง แสดงว่า ชื่อนายเกรียงชัยเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนั้นที่จำเลยทั้งสิบขออ้างการรังวัดที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าอาคารพิพาทก่อสร้างในที่ดินของจำเลยทั้งสิบนั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อความของเจ้าพนักงานที่ดินระบุชัดว่าหลักเขตเก่าหาย ได้ปักหลักเขตใหม่แทนตามเขตครอบครองโดยมีแนวอาคารเป็นเขตปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นการยึดถือตามแนวอาคารพิพาท จึงไม่เป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยทั้งสิบที่สมควรอนุญาตให้อ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติม ข้ออ้างของจำเลยทั้งสิบไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสิบดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และรุกล้ำที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาท และการที่จำเลยทั้งสิบว่าจ้างออกแบบอาคารพิพาทและใช้วิศวกรควบคุมการก่อสร้างคนเดียวกัน ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทในคราวเดียวกัน และดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทพร้อมกัน แสดงว่าจำเลยทั้งสิบกระทำการร่วมกัน จึงเป็นตัวการ การกระทำของจำเลยทั้งสิบเป็นความผิดฐานร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและรุกล้ำที่สาธารณะ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบข้อต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสิบกระทำความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และร่วมกันกระทำความผิดฐานดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งที่ให้จำเลยทั้งสิบระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตมีชื่อของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับทราบคำสั่งโดยมีลายมือชื่อปรากฏอยู่ ส่วนคำสั่งที่ให้จำเลยทั้งสิบระงับการก่อสร้างจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่ ก็มีชื่อของจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับโดยมีลายมือชื่อปรากฏอยู่เช่นเดียวกัน ทั้งการส่งคำสั่งที่ให้จำเลยทั้งสิบระงับการก่อสร้างจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่ นั้นเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งมีลายมือชื่อผู้รับเอกสาร โดยเฉพาะจำเลยที่ 8 และที่ 9 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเอกสารด้วยตนเอง แม้จำเลยทั้งสิบจะอ้างว่าลายมือชื่อไม่ใช่ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 แต่ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ได้ความว่าจำเลยที่ 4 เคยพูดให้ฟังว่าได้รับหนังสือจากเทศบาลตำบลแก่งคอยเกี่ยวกับการก่อสร้าง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าหนังสือที่จำเลยที่ 4 ได้รับเป็นคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่าเทศบาลตำบลแก่งคอยมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างจนกว่าจะมีผู้ควบคุมงานคนใหม่เจือสมกับนายสมชาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสิบทราบคำสั่งของเทศบาลตำบลแก่งคอยที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสิบไม่ปฏิบัติตาม ยังคงดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทต่อไป การกระทำของจำเลยทั้งสิบ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และร่วมกันดำเนินการก่อสร้างในระหว่างที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบข้อต่อไปมีว่า สมควรลดโทษจำเลยทั้งสิบให้เบาลงหรือไม่ เห็นว่า ขณะจำเลยทั้งสิบทราบคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะก่อสร้างผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต และคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างเพราะมีการบอกเลิกผู้ควบคุมงานและยังไม่มีการแจ้งชื่อผู้ควบคุมงานคนใหม่นั้น การก่อสร้างอาคารพิพาทเริ่มไปได้ประมาณ 3 เดือน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเพียงก่อสร้างฐานราก แต่จำเลยทั้งสิบไม่ยอมระงับการดำเนินการก่อสร้างเพื่อตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้อง ยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อไปอีกเป็นเวลานานปีเศษ ทั้งในระหว่างนั้นจำเลยทั้งสิบก็ได้รับคำสั่งแจ้งเตือนให้ระงับการก่อสร้างด้วยเหตุเดียวกันอีกหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสิบยังคงเพิกเฉยไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการปฏิเสธชัดแจ้งไม่ยอมรับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ออกตามกฎหมาย ทั้งการดำเนินการก่อสร้างของจำเลยทั้งสิบยังมีผลทำให้การใช้ประโยชน์สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สะดวกและขัดข้อง กรณีจึงไม่มีเหตุที่สมควรลดโทษจำเลยทั้งสิบให้เบาลง ฎีกาของจำเลยทั้งสิบทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสิบออกจากที่สาธารณะที่รุกล้ำ ไม่ได้มีคำขอให้เว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตร เมื่อที่ว่างระหว่างกลางด้านหลังอาคารพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณะตามฟ้องมีความกว้าง 1.50 เมตร การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตรตลอดแนว จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนั้นตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสิบปรากฏว่าในการดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพาท มีการร่นระยะด้านหน้าอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกผิดแผกไปจากแผนผังบริเวณ และความยาวของที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกไม่เท่ากัน ไม่ได้ความชัดว่าด้านหลังอาคารพิพาทด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกแต่ละด้านรุกล้ำที่สาธารณะมากน้อยเท่าใด ประกอบกับการออกจากที่สาธารณประโยชน์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนจะต้องปฏิบัติด้วยการรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่รุกล้ำ เมื่อยังไม่ได้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตของอาคารพิพาทส่วนที่ต้องรื้อถอน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันออกไปจากที่สาธารณประโยชน์ด้านหลังอาคารพิพาท .60 เมตรจึงไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ชอบที่โจทก์จะไปว่ากล่าวดำเนินคดีต่างหาก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเว้นระยะห่างด้านหลังอาคารพิพาท 2 เมตรตลอดแนว กับที่ให้จำเลยทั้งสิบและบริวารร่วมกันออกไปจากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่รุกล้ำด้านหลังอาคารกว้าง .60 เมตร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1