แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์นายจ้างฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยพนักงานตรวจแรงงาน ที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ จ. ลูกจ้างโดยศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เลิกจ้าง จ. มีผลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ จ. จึงสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีก แม้ว่าในภายหลังโจทก์จะพบเรื่องที่อ้างว่า จ. กระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรงกรณีละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การทะเลาะวิวาท และการรับสินบน โจทก์จะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งหาได้ไม่ เพราะความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างระหว่างโจทก์กับ จ. ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
แม้ จ. ยื่นคำร้องต่อจำเลยเรียกร้องเฉพาะค่าชดเชย และให้การว่าไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกก็ตาม แต่สิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของลูกจ้างเป็นสิทธิที่มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสละสิทธิ และสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหาได้ระงับสิ้นไปไม่ เพราะมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทให้แก่กันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อสิทธิดังกล่าวคงมีอยู่ตามกฎหมาย ลูกจ้างจะใช้สิทธิเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิดังกล่าวของลูกจ้างในการยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยสอบสวนตามคำร้องของลูกจ้างแล้วปรากฏว่า ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 37/2549 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 ของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า การที่โจทก์นายจ้างเลิกจ้างนายจำลอง ลูกจ้าง มีผลสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อใด ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 นายสกล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของโจทก์กล่าวหาว่านายจำลองเล่นการพนัน เมื่อนายจำลองปฏิเสธนายสกลก็อ้างเหตุว่านายจำลองขับรถโฟล์คลิฟต์เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งให้ไปเขียนใบลาออกนายจำลองออกจากที่ทำงานไปหาพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาโจทก์ไม่ยอมให้นายจำลองเข้าไปทำงานในสถานประกอบกิจการโดยสั่งพนักงานรักษาความปลอดภัยหน้าประตูไว้และจ่ายค่าจ้างให้แก่นายจำลองถึงวันที่ 31 มกราคม 2549 แสดงว่าโจทก์มีเจตนาจะไม่ให้นายจำลองทำงานต่อไป พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นายสกลมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่กำกับดูแลในการบริหารงานภายในฝ่ายและปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้ทำงานตามนโยบายเท่านั้นไม่ใช่นายจ้างที่จะมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างของโจทก์ได้ การที่นายสกลได้เรียกนายจำลองมาพบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และแจ้งด้วยวาจาว่ามีความผิดเล่นการพนันในเวลาและสถานที่ทำงาน กับขับรถโฟล์คลิฟต์เกิดอุบัติเหตุ หรือว่ากล่าวตักเตือนตามอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา และแจ้งให้นายจำลองเขียนใบลาออก ไม่ใช่การกระทำของนายจ้างหรือตัวแทนนายจ้าง ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ได้เลิกจ้างนายจำลองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 แต่การเลิกจ้างสมบูรณ์เมื่อได้สอบสวนความผิดโดยมีผลเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ตามหนังสือเลิกจ้าง เห็นว่า ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 2 อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า คดีนี้โจทก์นายจ้างเลิกจ้างนายจำลอง ลูกจ้าง ด้วยวาจามิได้ทำเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม (เดิม) โจทก์จึงไม่ต้องห้ามที่จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลัง เพื่อต่อสู้เป็นข้อยกเว้นเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยแล้วว่า โจทก์นายจ้างเลิกจ้างนายจำลองลูกจ้างมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับนายจำลองจึงสิ้นสุดและมีผลตามกฎหมายนั้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปแล้ว โดยโจทก์นายจ้างไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีกแม้ว่าในภายหลังโจทก์นายจ้างจะพบเรื่องที่อ้างว่านายจำลองลูกจ้างกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง กรณีเรื่องขาดงานเกิน 3 วัน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การทะเลาะวิวาทกันและการรับสินบน โจทก์นายจ้างจะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งหาได้ไม่เพราะความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างระหว่างโจทก์กับนายจำลองได้สิ้นสุดลงไปแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อสุดท้ายมีว่า คำสั่งที่ 37/2549 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 ของจำเลย ที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า สิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของลูกจ้างเป็นสิทธิที่มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง แม้นายจำลองลูกจ้างจะไม่ได้ระบุเรียกร้องในคำร้อง และให้การว่าไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำให้การก็ตาม กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสละสิทธิ และสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นหาได้ระงับสิ้นไปไม่ เพราะมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทให้แก่กันระหว่างโจทก์นายจ้างกับนายจำลองลูกจ้าง เมื่อสิทธิดังกล่าวคงมีอยู่ตามกฎหมายนายจำลองลูกจ้างจะใช้สิทธิเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนดนอกจากนี้ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิดังกล่าวของลูกจ้างในการยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนตามคำร้องของนายจำลองลูกจ้างแล้วปรากฏว่ามีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์นายจ้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายจำลองลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน