คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ และตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณีดังนี้เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวันที่ 4 มิถุนายน 2533และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำอุทธรณ์ในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน คือวันที่ 3สิงหาคม 2533 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2533 โจทก์ก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน คือต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2534 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้อง
สิทธิของผู้ได้รับเงินค่าทดแทนที่จะฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มีได้เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งคือ กรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์หามีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีที่วินิจฉัยเกินกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ไม่
กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิ มิใช่อายุความ การที่มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ให้แก้ไขการกำหนดราคาเบื้องต้นและโจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ไม่ทำให้กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารชุดเลขที่ 295/3 ซอยราชปรารภ ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 10234 ตำบลมักกะสัน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร วันที่ 4 เมษายน 2533จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนและอาคารของโจทก์ต้องถูกทุบทิ้ง ให้ไปรับเงินค่าทดแทนอาคารของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน 6,380,734.10 บาท โจทก์ได้รับแล้วแต่ค่าทดแทนไม่เป็นธรรม จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ขอให้จ่ายค่าทดแทนให้โจทก์รวมเป็นเงิน 46,854,500 บาทต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเห็นด้วยกับราคาประเมินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 การกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เข้าตรวจสอบอาคารโดยไม่มีผู้ใดนำตรวจสอบ จำเลยที่ 1 ประเมินราคาโดยสำรวจจากภายนอกไม่ได้ประเมินราคาเฟอร์นิเจอร์เครื่องตกแต่งภายในและรายละเอียดของโครงสร้าง บริษัทสากลร่วมธุรกิจจำกัด ประเมินราคาค่าก่อสร้างอาคารของโจทก์ เป็นเงิน 26,099,600 บาท ซึ่งต่างจากราคาประเมินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 19,718,865.90 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้รับค่าทดแทนน้อยกว่าความเป็นจริง และโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2533 จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 2,834,586.70บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 22,553,451 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 19,718,865.90 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จในวันที่ 3 สิงหาคม 2533 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีภายใน1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดหกสิบวันดังกล่าว โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535และยังพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 295/3 ซอยราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 10234 ตำบลมักกะสัน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร วันที่ 1 มกราคม 2531มีการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไทเขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ที่ดินที่ตั้งอาคารของโจทก์อยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่แขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร กำหนดค่าทดแทนอาคารของโจทก์เป็นเงิน6,380,734.10 บาท จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 14 ธันวาคม 2532 ให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนดังกล่าววันที่ 25 พฤษภาคม 2533 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ วันที่ 4มิถุนายน 2533 โจทก์อุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวันที่ 7 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทน วันที่ 18 มีนาคม 2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแจ้งโจทก์ว่าได้พิจารณาแล้ว เห็นด้วยกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 23มีนาคม 2535 ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 จำนวน 1,042,611.95 บาท

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี เห็นว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 4 มิถุนายน 2533 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำอุทธรณ์ในวันเดียวกันตามเอกสารหมาย ล.15 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน คือวันที่ 3สิงหาคม 2533 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2533 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน คือต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2534 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว ดังนี้โจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้อง ที่โจทก์ฎีกาว่าในกรณีที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะวินิจฉัยเมื่อพ้น 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น เห็นว่า สิทธิของผู้ได้รับเงินค่าทดแทนที่จะฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มิได้เพียงกรณีใดกรณีหนึ่ง คือ กรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์หามีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีที่วินิจฉัยเกินกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ไม่

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การที่มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ให้แก้ไขการกำหนดราคาเบื้องต้นและโจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นใหม่ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิมิใช่อายุความ การที่มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ให้แก้ไขการกำหนดราคาเบื้องต้นและโจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหาทำให้กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นใหม่ดังโจทก์ฎีกาไม่

พิพากษายืน

Share