คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 327/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ตั้งผู้ร้องที่1ถึงที่4เป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสี่ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเมื่อปรากฏต่อมาในภายหลังว่าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปศาลมีอำนาจถอดถอนหรือสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก แม้ศาลยกคำร้องของค. ที่ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้วแต่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกคนอื่นร้องขอต่อศาลให้ตั้งค.เป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นสิทธิที่จะกระทำได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713 การที่บุคคลใดเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษมิใช่เหตุที่จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1718

ย่อยาว

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสี่ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็ง ผู้ตาย
ต่อมา ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1และที่ 3 ถึงแก่ความตาย ลำพังผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ไม่สามารถจัดการมรดกต่อไปได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4ร่วมกันมีอำนาจจัดการมรดกของนายเทียนเส็งผู้ตายต่อไป
ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ต่างยื่นคำร้องคำค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 เป็นทายาทโดยชอบธรรม มีสิทธิรับมรดกของนายเทียนเส็ง ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 จากการเป็นผู้จัดการมรดกโดยผู้คัดค้านที่ 4 ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ส่วนผู้คัดค้านที่ 5 ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5ขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องคัดค้านผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5และว่าหากศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 จากการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็ง และยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5
ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 6 ขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 3 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็ง และมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็งร่วมกับผู้ร้องที่ 2 และร้องที่ 4 คำขอนอกจากนี้ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6
ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่านายเทียนเส็งเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้ร้องทั้งสี่เป็นผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย ค.2 ข้อ 6 ต่อมาผู้ร้องทั้งสี่ได้รับคำสั่งจากศาลให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกมีพินัยกรรมการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ต่อมาผู้ร้องที่ 1 และที่ 3ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 จึงยื่นคำร้องนี้ โดยมีผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องที่ 2 และที่ 4จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 กับผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการกับมีผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำร้องคัดค้านคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 6เป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็ง และยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5
ในปัญหาประการแรกว่ามีเหตุสมควรถอนผู้ร้องที่ 2 และที่ 4ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็ง หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ยังไม่สมควรถอนผู้ร้องที่ 2 และที่ 4ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็ง
ส่วนที่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 6 ฎีกาว่าไม่ควรตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 เพราะขัดต่อข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมายค.2 ข้อ 6 นั้น เห็นว่า แม้จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวและศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนเส็งแล้ว เมื่อปรากฎต่อมาในภายหลังว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจที่จะถอดถอนหรือสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ปัญหาต่อไปคือสมควรจะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นมารดาของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิได้รับมรดกของนายเทียนเส็งตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.2 ข้อ 2 และข้อ 3 ส่วนผู้คัดค้านที่ 3และที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิตามพินัยกรรมข้อ 3 ถือว่าผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม แต่ในคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 5 ร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกแทนซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้คัดค้านที่ 5 จะกระทำได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 แต่อย่างใดดังเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว ส่วนที่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 กับผู้คัดค้านที่ 6 อ้างว่าผู้คัดค้านที่ 5 ไม่มีสิทธิรับมรดกเพราะถูกตัดโดยพินัยกรรม เอกสารหมาย ค.2 ข้อ 3 นั้น เนื่องจากยังไม่มีคำวินิจฉัยอันถึงที่สุดของศาลในปัญหาการตีความพินัยกรรมข้อนี้จะถือว่าผู้คัดค้านที่ 5 ถูกตัดมิให้รับทรัพย์มรดกยังไม่ได้ส่วนที่อ้างว่าผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษแม้จะเป็นจริงดังที่อ้างก็มิใช่เหตุที่จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่ว่ายังคงมีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม เอกสารหมาย ค.2ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 5 และครอบครัวมีส่วนจะได้รับอยู่ด้วย หากตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ย่อมจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทายาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share