คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3053/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์ของกลางไปในราคา 90,000 บาท โดยผู้ซื้อจะทำการโอน ย้าย ต่อภาษี พระราชบัญญัติเองทุกอย่าง แสดงว่าหลังจากทำสัญญาแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์หมดภาระหน้าที่เกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์ของกลางอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแม้ในสัญญาจะระบุว่า วันทำสัญญาผู้ซื้อวางมัดจำ 60,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า หากไม่ชำระถือว่าผู้ซื้อผิดสัญญายอมให้ผู้ขายฟ้องร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวและยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา แสดงว่าการชำระเงิน 2 งวดดังกล่าวเป็นเพียงการแบ่งชำระราคาซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อเท่านั้น มิใช่เป็นการวางมัดจำ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการซื้อขายรถยนต์ของกลางระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(8) วรรคสาม (ที่ถูก วรรคสอง), 336 ทวิ ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ที่ถูก 357 วรรคแรก) และริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข – 4983 เชียงใหม่ ของกลาง ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเข้ามาใหม่

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข – 4983 เชียงใหม่ของกลางที่ถูกศาลสั่งริบในคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรนั้น ปราศจากความรู้เห็นเป็นใจของผู้ร้องที่ได้นำรถยนต์ของกลางไปฝากขายที่ร้านเชียงใหม่เมืองรถ แล้วจำเลยที่ 2 ได้ซื้อไปโดยชำระค่ามัดจำบางส่วนและระบุในสัญญาซื้อขายว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวยังไม่โอนเป็นของผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วน ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 ยังค้างชำระราคา ต่อมาผู้ร้องได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ที่ค้างชำระ บอกเลิกสัญญาริบมัดจำ และขอรับรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว รถยนต์ของกลางจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์ของกลางมาจากร้านเชียงใหม่เมืองรถซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ลงวันที่ 27 เมษายน 2542 อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางจึงโอนเป็นของจำเลยที่ 2 แล้ว ผู้ร้องมีพฤติการณ์รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมรถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องนำไปฝากขายที่ร้านเชียงใหม่เมืองรถเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 ร้านเชียงใหม่เมืองรถได้ขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 90,000 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 60,000 บาท ในวันทำสัญญาและรับรถยนต์ของกลางไปแล้ว ยังคงค้างชำระ 30,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.2 ครั้นวันที่ 5 พฤษภาคม2542 จำเลยที่ 2 กับพวกได้นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมยึดรถยนต์ของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และสั่งริบรถยนต์ของกลาง คดีถึงที่สุดมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยังเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์ของกลางไปในราคา 90,000 บาทโดยมีข้อความในหมายเหตุว่า ในราคาที่ตกลงกันนี้ผู้ซื้อจะทำการโอน ย้าย ต่อภาษีพระราชบัญญัติเองทุกอย่าง แสดงว่าหลังจากทำสัญญาแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางหมดภาระหน้าที่เกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์ของกลางอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้ในเอกสารหมาย ร.2 มีข้อความว่า ในวันทำสัญญาผู้ซื้อต้องชำระเงินมัดจำ 60,000 บาท ส่วนที่เหลือ 30,000 บาท จะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า หากไม่ชำระถือว่าผู้ซื้อผิดสัญญายินยอมให้ผู้ขายฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว และยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแสดงให้เห็นว่าการชำระเงิน 2 งวดดังกล่าว เป็นเพียงการแบ่งชำระราคาซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อเท่านั้น มิใช่เป็นการวางมัดจำตามที่ผู้ร้องฎีกา มิฉะนั้นคงไม่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายฟ้องบังคับเอาเงินส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนอกเหนือจากสิทธิการริบมัดจำเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการซื้อขายรถยนต์ของกลางระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share