คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6135/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้และคดีก่อนจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน ที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน โจทก์ในคดีทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน และประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน คือโจทก์ทั้งสองคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่โดยฝ่ายโจทก์ต่างอ้างว่าได้รับมรดกที่ดินมาจากบิดา เฉพาะโจทก์ทั้งสองในคดีก่อนได้ยืนยันด้วยว่า หลังจากรับที่ดินพิพาทมาแล้ว โจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวกับโจทก์ในคดีนี้เข้าครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันและแทนกันตลอดมา ดังนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีกรณีถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองคดีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเมื่อโจทก์ทั้งสองในคดีก่อนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนกับโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่การเป็นเจ้าของรวมเพื่อต่อสู้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นการใช้สิทธิฟ้องแทนโจทก์ในคดีนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของรวม เมื่อคดีก่อนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องนั้นมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ โดยโจทก์ได้รับมรดกจากนายเยียบ อยู่มั่นบิดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2528 โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2534 จำเลยทั้งสองได้นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ต่อจากนั้นจำเลยทั้งสองได้สั่งให้บริวารบุกรุกเข้าไปไถทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลง การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้สุทธิจากการทำนาปีละ10,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินปีละ 10,000บาท ตั้งแต่ปี 2534 จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยทั้งสองขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ นางประโยชน์และนางทองยอได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 918/2539 ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า นางประโยชน์และนางทองยอไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 918/2529ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 918/2529ของศาลชั้นต้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2534 เอกสารหมาย ล.1คดีนี้และคดีดังกล่าวจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน ที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน โจทก์ในคดีทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน คือ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยฝ่ายโจทก์ต่างอ้างว่าได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาจากบิดา เฉพาะโจทก์ทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 918/2529 ได้ยืนยันด้วยว่า หลังจากรับที่ดินพิพาทมาแล้ว โจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าวกับโจทก์ในคดีนี้เข้าครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันและแทนกันตลอดมา ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีกรณีถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองคดีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 918/2529ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนกับโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่การเป็นเจ้าของรวมเพื่อต่อสู้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และเป็นการใช้สิทธิฟ้องแทนโจทก์ในคดีนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการใช้สิทธิของเจ้าของรวมเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องนั้นมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share