คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3932/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยหาได้บรรยายให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกคำพยานที่โจทก์นำสืบในข้อไหนอย่างไรและได้สันนิษฐานอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง,225 และฎีกาข้อนี้กล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ แต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด และในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 69, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2498 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 3, 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 47/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคแรก, 69(2), 73(2)พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ข้อนำสืบจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ของกลางริบที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อปรากฏว่าคดีหมายเลขดำที่ 47/2531 ศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาในประการแรกว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกคำพยานที่โจทก์นำสืบและเป็นการสันนิษฐานอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยเป็นการวินิจฉัยคดีนอกสำนวนและนอกคำพยานหลักฐาน เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าฎีกาในข้อนี้ของจำเลยหาได้บรรยายให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกคำพยานที่โจทก์นำสืบในข้อไหนอย่างไรและได้สันนิษฐานอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193วรรคสอง, 225 และฎีกาข้อนี้ของจำเลยกล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยครอบครองไม้ของกลางนั้นไว้แทนโรงเลื่อยซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครองไม้ดังกล่าวตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการมีไม้ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเห็นว่า คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้นหาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วยทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด อีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองไม้หวงห้ามเพื่อนำส่งโรงเลื่อยจึงย่อมเป็นความผิด
พิพากษายืน

Share