คำสั่งคำร้องที่ 2410/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 54 จึงไม่รับ
ผู้คัดค้านเห็นว่า ไม่ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2)(3) และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(5) ตามที่ผู้ร้องอ้างเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านด้วย
หมายเหตุ ทนายผู้ร้องได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 31 แผ่นที่ 2,4)
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายโสพล เฉียงพรหม กรรมการลูกจ้าง ได้
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายโสพล เฉียงพรหม ผู้คัดค้าน ได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 27)
ผู้คัดค้านจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 29)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นประธานสหภาพแรงงานดีแซดในการประชุมสมาชิกสหภาพแรงงานดีแซดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม2535ที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องที่จะประท้วงเพื่อให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายสมคิด สุขประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายบุคคลโดยผู้คัดค้านได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการประชุมและลงมติเพื่อประท้วงให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายสมคิด โดยการเฉื่อย งานด้วยการ ที่ผู้คัดค้านจัดให้มีการประชุมและลงมติดังกล่าว เป็น ผล ให้ยอดการผลิตลดน้อยลง ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านไม่เคยทำให้ผู้ร้องเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น การ ที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการเฉื่อยงานเนื่องจาก การที่ผู้คัดค้านประชุมสหภาพแรงงานก็ไม่เป็นความจริง เมื่อมีการสรุปรายงานการประชุมแล้ว ก็ไม่มีการลงมติแต่อย่างใด ที่เป็นการทำให้ผู้ร้องเสียหาย การที่ยอดการผลิตลดน้อยลง ก็ไม่ใช่ความผิดของผู้คัดค้านแต่เป็นปกติธรรมดาของการผลิตงานปราณีต อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ ของ จำเลยชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share