แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยคดีนี้กับจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอีกคดีหนึ่งซึ่งถึงที่สุดไปแล้วมิใช่บุคคลคนเดียวกัน เหตุแห่งการขอริบธนบัตรจำนวนเดียวกัน คดีอีกคดีหนึ่งโจทก์ขอริบโดยอ้างเหตุว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยในคดีดังกล่าวได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 แต่คดีนี้ผู้ร้อง อ้างเหตุให้ริบว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งคณะกรรมการ ตรวจสอบทรัพย์สินได้ยึดไว้ ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 22, 27, 29 และ 31 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตลอดจนการกระทำที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลพิจารณาริบธนบัตรจำนวนนี้แตกต่างกัน การพิจารณาคดีนี้จึงหาเป็นการร้องซ้อนหรือร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีอีกคดีหนึ่ง หรือทำให้สิทธิของผู้ร้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ไม่
ผู้คัดค้านถูกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกผู้คัดค้าน 25 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว ตามบทบัญญัติมาตรา 29 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าธนบัตรที่ผู้คัดค้านมีอยู่ หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถใน
การประกอบอาชีพเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงตกเป็นภาระของผู้คัดค้านที่ต้องพิสูจน์ว่าธนบัตรเป็นของผู้คัดค้านที่ได้มาโดยสุจริตและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าธนบัตรเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน แต่เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องริบธนบัตรให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามความในมาตรา 29 และ มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้คัดค้านถูกฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9871/2541 ให้ลงโทษจำคุกผู้คัดค้าน 25 ปี ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของผู้คัดค้านซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5047/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ริบเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านคือธนบัตร จำนวน 645,120 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ศาลมีคำสั่งริบธนบัตร จำนวน 645,120 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29, 31
เลขาธิการปิดประกาศและแจ้งให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีโดยปิดประกาศที่สำนักงาน ที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน อย่างน้อยเจ็ดวัน และประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่น กับแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ธนบัตร จำนวน 645,120 บาท ผู้คัดค้านได้มาโดยสุจริต และธนบัตรจำนวนดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาไม่ริบ แต่ให้คืนเจ้าของในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีนางสาวอาหลี เป็นจำเลย เมื่อผู้ร้องขอให้ริบธนบัตรจำนวนนี้อีก จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ขอให้ยกคำร้องและคืนธนบัตร จำนวน 645,120 บาท แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ริบธนบัตร จำนวน 645,120 บาท ของกลาง ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามมาตรา 29, 31 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านถูกฟ้องฐานมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้าน 25 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9871/2541 และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของผู้คัดค้านซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5047/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนของกลาง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกมีว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบธนบัตร จำนวน 645,120 บาท เป็นการร้องซ้อนหรือร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องผู้อื่นเป็นจำเลยและขอให้ริบธนบัตรของกลางจำนวนนี้ โดยอ้างการกระทำของจำเลยดังกล่าวอันจะเป็นเหตุให้ริบธนบัตรของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยในคดีดังกล่าวได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนั้น ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 แต่คดีนี้ผู้ร้องอ้างเหตุให้ริบธนบัตรจำนวนเดียวกันนี้ว่า เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวไว้แล้ว ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 16 (3), 22, 27, 29 และ 31 จึงเห็นได้ว่าคดีนี้กับ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้น จำเลยมิใช่บุคคลคนเดียวกัน ทั้งมีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตลอดจนการกระทำที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลพิจารณาริบธนบัตรจำนวนนี้แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาคดีนี้จึงหาเป็นการร้องซ้อนหรือร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้น หรือทำให้สิทธิของผู้ร้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ดังฎีกาของผู้คัดค้านแต่ประการใดไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านต่อไปมีว่า ธนบัตร จำนวน 645,120 บาท เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านถูกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกผู้คัดค้าน 25 ปี คดีถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9871/2541 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น ตามปัญหานี้จึงต้องตามบทบัญญัติมาตรา 29 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าธนบัตร จำนวน 645,120 บาท ที่ผู้คัดค้านมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตกเป็นภาระของผู้คัดค้านที่ต้องพิสูจน์ว่าธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ได้มาโดยสุจริตและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งผู้คัดค้านนำสืบได้ความเพียงว่า ธนบัตร จำนวน 645,120 บาท เป็นทรัพย์สินของตนที่แท้จริง แต่ที่อ้างว่าเป็นส่วนกำไรที่ผู้คัดค้านเก็บรวบรวมได้จากการขายข้าวมันไก่ ข้าวมันไก่ทอดและก๋วยเตี๋ยวเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยผู้คัดค้านและนางสาวอาหลี ผู้ร่วมกระทำความผิดในคดียาเสพติดให้โทษกับผู้คัดค้านเบิกความเพียงลอย ๆ เท่านั้น หาได้มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนไม่ ประกอบทั้งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายธนบัตรของกลางแล้ว เห็นได้ว่า เป็นธนบัตรใหม่แบ่งแยกชนิดอย่างเป็นระเบียบมีสายรัดของธนาคารรัดไว้แต่ละปึก จึงไม่น่าจะเป็นธนบัตรที่ผู้คัดค้านเก็บสะสมไว้จากการขายข้าวมันไก่ และยังได้ความอีกว่าก่อนหน้านี้ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยถูกฟ้องในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษคดีอื่น ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก คดีถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5047/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เช่นนี้ ที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ธนบัตร จำนวน 645,120 บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ได้มาโดยสุจริตจากการขายข้าวมันไก่ ข้าวมันไก่ทอดและก๋วยเตี๋ยวนั้น จึงไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ร้องได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าธนบัตรจำนวน 645,120 บาท ดังกล่าว เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน แต่เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามความในมาตรา 29 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.