แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยเป็นลูกค้ากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524โจทก์ยอมให้จำเลยกู้เบิกเงินเกินบัญชีบางครั้งเป็นจำนวนถึง16,700,000 บาท แสดงว่าโจทก์เชื่อว่าจำเลยมีความสามารถในการประกอบธุรกิจหากำไรมาใช้หนี้โจทก์ได้ ทั้งบางครั้งจำเลยสามารถนำเงินเข้ามาหักบัญชีได้เป็นจำนวนถึง 4,900,000 บาท จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 จำเลยนำเงินเข้าหักบัญชีเป็นจำนวนถึง 4,453,159.05 บาท คงเหลือเงินที่เป็นหนี้ถึงวันฟ้องเพียง 761,028.32 บาท ซึ่งจำเลยเคยเป็นหนี้มีจำนวนมากกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้องหลายเท่า จำเลยยังสามารถชำระหนี้ได้และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นอีก ทั้งจำเลยก็ยังประกอบธุรกิจการค้าเหมือนเดิม แม้โจทก์จะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 8(9) ก็เป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้จึงยังไม่พอถือว่าจำเลยสมควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์ โดยมีบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 เป็นประกันให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ติดต่อกับธนาคารโจทก์จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระเกินบัญชีกับโจทก์เพียง 4,200,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีบัญชีเงินฝากประจำเป็นประกันให้โจทก์ไว้ 4,200,000 บาท จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ให้นำเงินฝากดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีเดินสะพัดกระแสรายวันหักหนี้เพื่อปิดบัญชี แต่โจทก์ไม่สุจริต ไม่นำเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 หักหนี้เพื่อปิดบัญชี จึงมียอดหนี้เกินกว่าจำนวน 4,200,000 บาท ซึ่งส่วนที่เกินเป็นจำนวนดอกเบี้ยเท่านั้นจนกระทั่งถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 โจทก์จึงนำเงินฝากของจำเลยที่ 1เข้าบัญชีทำให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์เฉพาะค่าดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ควรมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 ปากเดียวมาเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าการชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง” ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้ากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.41กับโจทก์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เงินเบิกเกินบัญชีบางครั้งเป็นจำนวนถึง 16,700,000 บาท จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีความสามารถในการประกอบธุรกิจ หากำไรมาใช้หนี้โจทก์ได้ ทั้งปรากฏว่าบางครั้งจำเลยที่ 1 สามารถนำเงินเข้ามาหักบัญชีได้เป็นจำนวนถึง 4,900,000 บาท จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าหักบัญชีเป็นจำนวนถึง 4,453,159.05 บาท คงเหลือเงินที่เป็นหนี้เมื่อคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องมีจำนวนเพียง 761,028.32 บาท เห็นว่า จำเลยที่ 1เคยเป็นหนี้มีจำนวนมากกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้องหลายเท่า จำเลยที่ 1ยังสามารถชำระหนี้ได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เป็นลูกหนี้เจ้าหนี้รายอื่นอีก ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยังประกอบธุรกิจการค้าเหมือนเดิมที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งแรกดังนี้แม้โจทก์จะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็เป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ตามบทกฎหมายดังกล่าวมาในตอนต้น ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้ ยังไม่พอถือว่าจำเลยทั้งสามสมควรตกเป็นบุคคลล้มละลายตามฟ้อง”
พิพากษายืน